ขอนแก่น 21 ส.ค. – กลุ่มลูกหนี้นายทุนเงินกู้รายใหญ่ในภาคอีสาน ร้องขอความเป็นธรรมจากตำรวจภูธรภาค 4 ให้ช่วยเหลือทางคดี หลังถูกเจ้าหนี้ทยอยฟ้องยึดทรัพย์ขายทอดตลาดอย่างไม่เป็นธรรมมานานกว่า 10 ปี มูลหนี้เบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาท
มาตรการคืนโฉนดที่ดินและคืนความสุขให้กับประชาชน ของตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งยึดโฉนดจากนายทุนเงินกู้นอกระบบมาคืนให้ลูกหนี้ชาวขอนแก่น และอุดรธานี กว่า 1,000 ฉบับ ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา จุดประกายให้ลูกหนี้นอกระบบต่างมีความหวัง ในจำนวนนี้คือกลุ่มลูกหนี้ของมะลิทอง นายทุนเงินกู้ชาวจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีลูกหนี้กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานหลายจังหวัด
วันนี้ลูกหนี้ในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และชัยภูมิ เข้าขอความเป็นธรรมกับตำรวจภูธรภาค 4 เพื่อให้ช่วยบรรเทาความเสียหาย และฟ้องติดตามเอาทรัพย์สินคืน หลังถูกนายทุนทยอยฟ้องยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ราวปี 2550 เป็นต้นมา
ยายโสดา ถาหล้าอินทร์ ชาวอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น วัย 64 ปี กู้เงิน 195,000 บาท ให้ลูกชายไปทำงานไต้หวันปี 2543 แต่นายทุนเขียนในสัญญา 280,000 บาท ตลอดเวลา 2 ปี ส่งเงินเข้าบัญชีที่นายทุนยึดบัตรเอทีเอ็มไว้ 340,000 บาท กลับบ้านเกิด นายทุนอ้างยังเหลือมูลหนี้กว่า 400,000 บาท ยายโสดาต้องขายนานำเงิน 100,000 บาท มาใช้หนี้บางส่วน คดียายโสดาน่าจะจบตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เมื่อยอมรับสภาพหนี้ในขั้นตอนไกล่เกลี่ยของศาลจังหวัดภูเขียว 445,000 บาท เงินจำนวนนี้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้โอนเข้าบัญชี ธกส.เรียบร้อยแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับ กลับเดินหน้าฟ้องยึดโฉนดที่เป็นหลักประกัน 3 แปลง เนื้อที่กว่า 10 ไร่ ยายโสดาต้องกู้เงินอีก 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 เพื่อให้บังคับคดีจังหวัดชัยภูมิระงับการขาย 3 เดือน ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยมากว่า 2 ปีแล้ว
ข้าราชการบำนาญ อดีตเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ติดตามให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้กว่า 10 ปี บอกว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ชาวบ้านยอมเซ็นรับสภาพหนี้ตามคำแนะนำของทนายความ ศาลจึงพิพากษาตามยอม โดยไม่ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งที่หลายคนมีหลักฐานการโอนเงินใช้หนี้ชัดเจน
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยภายใน 2 วันนี้จะไปให้คำแนะนำชาวบ้านที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนพฤติการณ์แห่งคดีจะเปิดช่องให้ฟ้องกลับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายคดี
นายทุนเงินกู้รายนี้ฟ้องลูกหนี้เกือบ 500 คดี ทุนทรัพย์กว่า 100 ล้านบาท รายใดที่เพลี่ยงพล้ำจึงจะลดหนี้ให้ หรือถึงขั้นยอมยกหนี้เพื่อไม่ให้เอาเรื่อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเป็นที่ปรึกษา ซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรมให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันตรวจสอบเพื่อเรียกตัวไปหารือเป็นการเฉพาะ ในแวดวงนักกฎหมายมีการถกเถียงกันว่า เมื่อมีคำพิพากษารับรองแล้วยังจะถือว่าเป็นหนี้นอกระบบอยู่หรือไม่ ซึ่งจะทำให้การเอาผิดทางกฎหมายยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันที่ผ่านมาดีเอสไอได้เรียกนายทุนเงินกู้และอดีตสามีไปรับทราบข้อกล่าวหา ฐานหลีกเลี่ยงภาษีกว่า 400 ล้านบาท หลังได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากโดยไม่เสียค่าตอบแทน . – สำนักข่าวไทย