กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เร่งพร่องน้ำเขื่อนเกินร้อยละ 80 รับมือฝนตกหนัก 15-19 ส.ค.นี้
ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติสรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ว่า เมื่อเวลา 22.00 น. ของวานนี้ (14 ส.ค.) พายุโซนร้อนเบบินคา บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศ สปป.ลาวในช่วงวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และ15-19 สิงหาคม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มได้
ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการระบายน้ำจากเขื่อน แม่น้ำสายสำคัญ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคกลางและใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก แม่น้ำโขง ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
สำหรับสถานการณ์ฝน 15 ส.ค. 61 ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะ 28 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวัง ภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ภาคกลาง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 05.00 น. ฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ (เชียงราย 77.5 มิลลิเมตร กำแพงเพชร 42 มิลลิเมตร) ฝนตกหนักถึงหนักมากภาคตะวันออก (ตราด 94 มิลลิเมตร สระแก้ว 66 มิลลิเมตร) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 726 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 725) คิดเป็นร้อยละ 102 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 14.80 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 12.53) ปริมาณน้ำระบายออกวันละ 13.80 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 13.6) น้ำล้นทางระบายน้ำสูง 36 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 1 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป
ขณะที่สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำในแม่น้ำเพชร บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.23 ม. (เมื่อวาน 1.28 ม.) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 137.80 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 133.30 ม.) ทำให้พื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว มีการบริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทาน และแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ระดับน้ำ (06.00 น.) อ.เมืองเพชรบุรีมีระดับลดลงต่ำกว่าตลิ่ง 1.05 ม. (เมื่อวาน 0.94 ม.) ยังต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ ส่วนราชการต่าง ๆ ยังคงเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ในจุดเสี่ยงต่าง ๆ มีการแจ้งเตือนและช่วยเหลือ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 3/2561 (10 ส.ค.61) เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 535) คิดเป็นร้อยละ 103 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 4.47 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 6.23) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.33 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 5.37) สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร การบริหารจัดการน้ำ ติดตั้งกาลักน้ำ เพื่อเร่งการระบาย ohe มีการแจ้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน
เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (00.00 น.) มีปริมาณน้ำ 7,669 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 7,612) คิดเป็นร้อยละ 87 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 100.01 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 71.93) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 42.05 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 42.65) สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำ แผนการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 43 ล้าน ลบ. ม. ตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มี 2 แห่ง คือ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (00.00 น.) ปริมาณน้ำ 4,889 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 4,870) คิดเป็น ร้อยละ 87 ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 31.75 (เมื่อวาน 38.77) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 11.24 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 6.69) หยุดการระบายน้ำระหว่าง 9-12 ส.ค. 61 และมาเริ่มระบายวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยมีแผนทยอยระบายน้ำเพิ่มขึ้นจนถึงวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. ติดตามสถานการณ์ด้านท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเพิ่ม/ลดการระบายให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด
เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 183 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 174 ) คิดเป็นร้อยละ 82 (เมื่อวานร้อยละ 78) ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 12.05 (เมื่อวาน 13.00) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.11 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนขุนด่านปราการชลช่วยชะลอน้ำที่ไหลลงอ่างก่อนลงสู่แม่น้ำนครนายก (เมื่อ 2 วันก่อนฝนตกหนักบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนสูงขึ้น 1.93 ม. จากเมื่อวาน ติดตามสถานการณ์ด้านท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด ปรับแผนการระบายให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด
ปัจจุบันมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ แม่น้ำสงคราม จังหวัดบึงกาฬ แม่น้ำชี จ.อุบลราชธานี ลำน้ำอูน และลำน้ำก่ำ จ.สกลนคร แม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี คลองอิปัน แม่น้ำตาปี ท้ายเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี แม่น้ำโขง บริเวณที่ติดกับประเทศไทยมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง แต่ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำที่ไหลจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น และจากการคาดการณ์ฝนในช่วงวันที่ 15-16 ส.ค. มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศ สปป.ลาว และบริเวณจังหวัดชายแดนของประเทศไทย ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำสงครามลงแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ 14 ก.ค. – 13 ส.ค. 61 มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศ 12,645 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น ภาคเหนือ 3,793 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,801 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 316 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 4,624 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 285 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 1,826 ล้าน ลบ.ม.อ่างฯ ที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนน้ำอูน (ร้อยละ 103) เขื่อนแก่งกระจาน (ร้อยละ 102) ขนาดกลาง 14 แห่ง ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 แห่ง และภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคใต้ 1 แห่ง อ่างเฝ้าระวัง (ร้อยละ 80-100) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง เขื่อนศรีนครินทร์ (ร้อยละ 88) เขื่อนวชิราลงกรณ (ร้อยละ 87 ) เขื่อนรัชชประภา (ร้อยละ 87) ขนาดกลาง 56 แห่ง ลดลง 4 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42 แห่ง (ลดลง 4 แห่ง) ภาคตะวันออก 8 แห่ง (เพิ่มขึ้น 2 แห่ง) ภาคกลาง 1 แห่ง (เท่าเดิม) และภาคใต้ 1 แห่ง (เท่าเดิม) พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แม่น้ำกระบุรี อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และ อ.เมืองระนอง จังหวัดระนอง แม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม และลำน้ำอูน ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีน้ำมากและอาจเกิดฝนตกในพื้นที่ พื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ
สำหรับอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 100 ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ และจัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงอุทกภัย กรณีการระบายน้ำฉุกเฉินของอ่างเก็บน้ำและกรณีเขื่อนวิกฤติ สำรวจความแข็งแรงของเขื่อน และสร้างการรับรู้ภาคประชาชนต่อเนื่อง .-สำนักข่าวไทย