กทม. 8 ส.ค. – อธิบดีกรมชลประทานคาดการณ์ว่าน้ำที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจานจะเริ่มท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตัวเมืองเพชรบุรี 12 สิงหาคม ระดับประมาณ 20-50 เซนติเมตร ขณะนี้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไว้แล้ว มั่นใจจะระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ได้หมดภายใน 2 สัปดาห์
นายทองเปลวกองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการใช้แบบจำลองทางวิศวกรรมเพื่อคาดการณ์สถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 10 สิงหาคม ระดับน้ำที่ล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) สูงประมาณ 65 เซนติเมตร น้ำจะระบายทาง Spillway ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนน้ำที่ดึงออกมาด้วยกาลักน้ำและสูบออกด้วยเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow มีอัตรา 110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมแล้วน้ำจะระบายท้ายเขื่อนแก่งกระจานในอัตรา 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นรีสอร์ท ร้านอาหารมีน้ำท่วมสูงประมาณ 10 เซนติเมตร สาเหตุที่น้ำท่วมในระดับนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน น้ำไม่ขังสูง
นับจากปริมาตรน้ำสูงสุดที่เขื่อนแก่งกระจานระบายออกมาจะใช้เวลา 15 ชั่วโมง ถึงเขื่อนเพชร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำที่กั้นแม่น้ำเพชรบุรี เมื่อรวมกับน้ำที่ไหลลงแม่น้ำระหว่างทางประมาณ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจะไหลไปถึงหน้าเขื่อนเพชรในอัตราการ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ โดยพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีไว้แล้ว เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและยืดเวลาที่ระดับน้ำจะสูงขึ้น วางแผนตัดยอดน้ำสู่คลองในระบบชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวา รวมทั้งผันเข้าคลอง D9 ที่กำลังเร่งขุดขยายทางน้ำเพื่อไหลไปออกทะเลได้สะดวก ลดปริมาตรน้ำได้รวม 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำโดยจะระบายออกท้ายเขื่อนเพชร ในอัตรา 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งใน อ.บ้านลาดและท่ายาง แต่สำหรับตัวเมืองเพชรบุรี แม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านรับน้ำได้ในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเป็นผลให้เมื่อน้ำไหลไปถึงในวันที่ 12 สิงหาคม จะล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร เมื่อไหลไปที่ อ.บ้านแหลม ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมาก ระดับน้ำจะท่วมสูง 50-80 เซนติเมตร แล้วจะไหลออกทะเลไป
สำหรับการเตรียมการบรรเทาผลกระทบ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วมไว้แล้ว ทันทีที่น้ำไหลเข้ามาจะสูบกลับลงแม่น้ำเพชรบุรีทันที ทั้งนี้ ยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเป็นระยะๆ เพื่อพร่องน้ำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและเรือผลักดันน้ำรวม 44 เครื่อง ที่ปากแม่น้ำเพชรบุรีออกทะเลไปให้เร็วที่สุด อีกทั้งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาได้สนับสนุนเรือผลักดันน้ำเพิ่มอีก 6 ชุด เพื่อเร่งผลักดันน้ำออกทะเลไปให้เร็วที่สุด
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการทั้งหมดจะบรรเทาภาวะน้ำท่วมตัวเมืองเพชรบุรีปีนี้ให้น้อยลงกว่าปี 2559 และ 2560 โดยในปี 2559 น้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปีนี้สามารถหน่วงน้ำและลดการระบายจนเหลือเพียง 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมตัวเมืองเพชรบุรีไม่สูงมาก และพื้นที่ได้รับผลกระทบจะไม่ขยายเป็นวงกว้าง อีกทั้งสามารถเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังให้ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์. – สำนักข่าวไทย