อุบลฯ 23 ก.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมรับข้อเสนอเอกชนอีสานใต้ 6 ข้อ พร้อมเปิดโครงการ E-San Start Up สร้างผู้ประกอบการใหม่ 4.0
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ได้รับข้อเสนอจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (NEEC) จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างฐานการผลิตและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เชื่อมโยงอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาวและกัมพูชา
2. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ประมาณ 2,303 ไร่ มูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 2,700 ล้านบาท คาดจะสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง กิจการพลังงานทดแทนและท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม เป็นต้น พร้อมเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับนานาชาติ เชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ด้วย คาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงผังเมืองทั้งหมดให้มีความเหมาะสม ก่อนที่จะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 -3 ปี
3.โครงการ E-San Start Up เป็นโมเดลในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภาคการค้าและภาคบริการ ให้มีแนวคิดเป็นผู้ประกอบการ 4.0 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจ 0 – 3 ปี เพื่อเข้าอบรมทำแผนธุรกิจและเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจผ่านพี่เลี้ยงหรือบริษัทขนาดใหญ่ คาดว่าจะเกิดมูลค่ายอดขายธุรกิจไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน
4.โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีสานใต้ (Science Park) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) จะร่วมกับศูนย์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน (CoRE) และมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการในพื้นที่ ในการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการผลิต การจัดการด้านคุณภาพ และการเสริมขีดความสามารถของช่างเทคนิคและวิศวกรในพื้นที่ ให้เรียนรู้เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้และการออกแบบ เครื่องจักรและระบบโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ ที่มีมากกว่า 2,200 ราย เพื่อเป็นการขยายผลการนำเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ไปสู่ผู้ประกอบการอื่นๆในพื้นที่อีสานใต้
และอีก 2 โครงการจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 วันพรุ่งนี้ เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงาน คือโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร (Pilot Plant) พื้นที่ 200 ไร่ งบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะทำงานในรูปแบบเครือข่ายร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อเป็นต้นแบบแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร มีบริการทางด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ เนื่องจากอุบลราชธานีมีพื้นที่การเกษตร 12 ล้านไร่ ปลูกข้าวได้ผลผลิตน้อย 3 ล้านไร่ ปลูกมันสำปะหลัง 500,000 ไร่ โดยจะนำร่องด้วยมันสำปะหลังและอ้อย แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ . – สำนักข่าวไทย