กรุงเทพฯ 28 เม.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเอกชนลงทุน Bio Hub 3 จังหวัดเพิ่ม กว่า 94,000 ล้านบาท
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 และรับทราบการเตรียมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เพิ่มเติมตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันให้เกิด Bio Hub ในจังหวัดฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี เพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของอาเซียนโดยเร็ว
นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน ซึ่งกระทรวงฯ กำลังเร่งปรับปรุงประกาศ เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบทุกท้องที่ ปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่น และเพิ่มประเภทกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้สามารถตั้งโรงงาน ส่วนมาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ขณะนี้ได้เกิดมูลค่าการลงทุนแล้ว 9,740 ล้านบาท ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ECC) ในส่วนของการผลิตน้ำยาล้างไต พลาสติกชีวภาพ และการผลิตเมทิลเอสเทอร์ และคาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อีก 41,000 ล้านบาท ในปี 2564 นอกจากนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลังเร่งออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก พร้อมการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต
สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดันโครงการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ของภาคเอกชน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ขนาด 998 ไร่ มูลค่าการลงทุน 12,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ และโครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ขนาด 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม มีแผนการลงทุนผลิต Bio Energy, Bio Refinery, Pharmaceutical & Cosmetics, Food & Feed for future, Social Enterprise and Tourism, R&D Innovation Center รวมถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการปลูกมันสำปะหลังแบบครบวงจรพร้อมตลาดโรงงานอุตสาหกรรมรองรับ (BioMatlink) เพื่อรวบรวมมันสำปะหลังจากเกษตรกร ผ่านศูนย์รวบรวมรับซื้อ ตรวจสอบคุณภาพ แปรรูป เก็บสตอก และกระจายสินค้า
ส่วนจังหวัดลพบุรี กระทรวงฯ เร่งผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรจัดทำแผนการลงทุนโครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ขนาด 2,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองเมือง ตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ได้แก่ เอทานอลจากน้ำอ้อย เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ เช่น กรดแลกติก ยีสต์และเอนไซม์ต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดการเกษตรขั้นสูง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรโดยสนับสนุนหลักการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm)
นายสมชาย กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการแต่ละมาตรการฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงเร่งผลักดันโครงการลงทุน Bio Hub ตามความพร้อมของภาคเอกชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี จากพื้นที่นำร่องเดิมในเขต EEC เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) และเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเร่งดำเนินการตามระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน ทำให้เกิดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย