เชียงใหม่ 24 มี.ค. – กระทรวงอุตฯ นำคณะผู้แทนอาเซียนลงพื้นที่เชียงใหม่ โชว์อัตลักษณ์ CIV ออนใต้ ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตั้งเป้าปั้นหมู่บ้าน CIV 215 ชุมชนทั่วประเทศภายในปี 62
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะอาเซียนระดับอธิบดีหรือผู้แทนจากสมาชิกประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ระหว่างการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านแร่ธาตุ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาต้นแบบชุมชนที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้าน CIV ชุมชนออนใต้ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 9 โมเดลต้นแบบ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้นำร่องการส่งเสริมและพัฒนาระยะแรกตั้งแต่ปี 2559 ตั้งเป้าปี 2562 รวมทั้งสิ้น 215 หมู่บ้าน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ หลังจากพัฒนาไปแล้ว 27 หมู่บ้าน เพื่อยกระดับรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจหมู่บ้านให้เกิดความเข้มแข็งและพร้อมพัฒนาตนเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก
“รัฐบาลต้องการพัฒนาหมู่บ้าน CIV ให้เป็นหมู่บ้านแห่งความสมดุล นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น คาดหวังว่าหมู่บ้าน CIV จะผลักดันให้เกิดสินค้าผลิตภัณฑ์ในชุมชนมียอดขายมากกว่าแสนล้านบาทในปี 2565 จากปี 2559 มียอดขายไม่ถึง 80,000 ล้านบาท” นายสมชาย กล่าว
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า หมู่บ้าน CIV ชุมชนออนใต้ ถูกยกระดับการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อทดลองนำร่องระยะแรกของโครงการหมู่บ้าน CIV ถือเป็นต้นแบบสำคัญในการขับเคลื่อนหมู่บ้าน CIV ทั้งตำบลมี 11 หมู่บ้าน ชาวบ้านความร่วมมือระหว่างชุมชนในการสร้างเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จ นับว่ามีนักท่องเที่ยวให้การตอบรับเป็นอย่างดีในปัจจุบัน เนื่องจากชุมชนออนใต้นำวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเก่าแก่ยังคงรักษามาจนถึงปัจจุบันมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว ผสมผสานกับอัตลักษณ์ดั้งเดิมมาพัฒนาเป็นจุดขายด้วยแนวคิดสร้างสรรค์จากการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและมีแบรนด์สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นของตนเองภายใต้สโลแกน “พันนาพูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้” โดยมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปปลา 3 ตัวว่ายวนรอบใบไม้ ทั้งในผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่มีนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อและกระเป๋า ขนาดต่าง ๆ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เทคนิคการผลิตดั้งเดิมมาผลิตเป็นภาชนะรูปแบบต่าง ๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์เป็นศิลปะโบราณ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เป็นที่พัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน สามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ปี 2561 ชุมชนออนใต้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.5 ล้านบาท นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6,000 คน
นอกจากนี้ กสอ.ยังได้จัดทำแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า “CIV like” นำเสนอเรื่องราวท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน แผนที่แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงที่พักโฮมสเตย์ให้ผู้สนใจได้ดูข้อมูลก่อนเดินทาง สร้างโอกาสทางการตลาดสร้างระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย สามารถดึงดูดผู้เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้าน และก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืนในท้องถิ่น สามารถแสดงผลบนสมาร์ทโฟนทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android เป็นช่องทางเข้าถึงผู้ใช้งานสะดวก ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ พัฒนา CIV MARK เพื่อเป็นตราสัญลักษณ์บ่งชี้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับแบรนด์ของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก และเกิดการยอมรับในผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพราะแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถการพัฒนาของชุมชนที่เป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นทุนทั้งวัตถุดิบและบริการด้านท่องเที่ยวของหมู่บ้าน สามารถดึงเม็ดเงินจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองผ่านสินค้าเด่นประจำชุมชนได้อย่างแท้จริง นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย .-สำนักข่าวไทย