กรุงเทพฯ 13 มี.ค. – ก.อุตฯ คาด พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่มีผลบังคับปลายปีนี้ ยืนยันยกเลิก รง.4 เปลี่ยนเป็นรับรองตนเองแทน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ “Factory 4.0 และ Circular Economy” ในบริบทอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม โดยระบุว่ากระทรวงอุตสาหกรรมถอดแบบนโยบายประเทศไทย 4.0 มาเป็น อุตสาหกรรม 4.0 และ Factory 4.0 และ Circular Economy โดยต่อยอด 10 อุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมใหม่และการใช้ ITC และ IoT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังเพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรมใหม่ คือ Circular Econom และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศรวมเป็น 12 อุตสาหกรรม
นายสมชาย กล่าวว่า เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งได้แก้ไขนิยามโรงงานที่อยู่ในการกำกับดูแลใหม่ จากเดิมกำหนดให้โรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า มีแรงงาน 7 คนขึ้นไปต้องมาขึ้นทะเบียนขอ รง.4 กับกรมโรงงานฯ เปลี่ยนใหม่เป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้า และแรงงาน 50 คนขึ้นไป ส่งผลให้โรงงานในการกำกับดูแลของกรมโรงงานฯ ลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 50 จากที่มีโรงงานในความดูแลประมาณ 144,000 โรงงาน ลดลงเหลือประมาณ 60,000-70,000 โรงงาน และโรงงานเหล่านี้ตาม พ.ร.บ.โรงงงานแก้ไขใหม่ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาต รง.4 ทุก 5 ปีอีก เพราะเปลี่ยนระบบใหม่มาเป็นการรับรองตนเองแทน โดยมีบุคคลที่ 3 ตรวจรับรอง
นายสมชาย ยังย้ำด้วยว่าการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ข้อมูลที่โรงงานส่งมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่าจะไม่ส่งให้กรมสรรพากร แม้กรมสรรพากรจะเคยร้องขอมาก็ตามและยังยืนยันนโยบายนี้ต่อไป เพราะการจัดเก็บข้อมูลเป็นการทำงานคนละส่วนกับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร จึงขอให้โรงงานต่าง ๆ สบายใจและจัดส่งข้อมูลถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และเป็นประโยชน์ในการวางนโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหรรมยังเดินหน้าจัดทำบิ๊กดาต้า โดยทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมบรูณาการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสากรรม เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต
สำหรับ Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน จะเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต โดยให้ความสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน คือ การผลิต ส่งเสริมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสู่นวัตกรรมการรออกแบบตลอดห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์, การบริโภค นำกลับมาใช้ซ้ำ และการลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็นตลอดจนมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์, การจัดการของเสีย ปรับปรุงขั้นตอนการจัดการของเสีย และการลงทุนการจัดการของเสียระยะยาว และสุดท้าย คือ การใช้วัตถุดิบรอบ 2 หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบรอบ 2 หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยการกำกับดูแลโรงงานตามแนวทางการรับรองตนเองของโรงงาน ว่า มาตรการนี้จะส่งผลดีและชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ 1.เพิ่มความสะดวกผู้ประกอบการ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ และ 1.ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม 2.ลดปัญหาข้อร้องเรียนสร้างความความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างความสนใจดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยได้มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย