กรุงเทพฯ 11 มี.ค.- กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือ 11 บริษัทผู้ผลิตและนำเข้ารถยนต์รวม 12 ยี่ห้อ แสดงเจตจำนงยกระดับผลิตรถยนต์สู่มาตรฐาน Euro 5 ในปี 64 ขณะที่ฮอนด้า ฟอร์ด และจีเอ็ม ไม่มาร่วมงานวันนี้
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมการแสดงเจตจำนงปรับมาตรฐานการผลิตรถยนต์ โดยปรับมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์จาก EURO 4 ให้เทียบเท่า Euro 5 ภายในปี 2564 เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอนาคต โดยมี 11 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มาร่วมแสดงเจตจำนง ขณะที่ฮอนด้า ฟอร์ด และจีเอ็ม ไม่ได้มาร่วมแสดงเจตจำนง โดยฟอร์ดและจีเอ็มให้เหตุผลว่า บริษัทแม่ในต่างประเทศยังไม่ตอบกลับ และกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังมีแผนที่จะให้ปรับมาตรฐานสู่ Euro 6 ภายในปี 2565
นายสมชาย กล่าวว่า รถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมีมาตรฐานระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ EURO 4 ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ปรับมาตรฐานเป็น EURO 5 แล้ว ไทยจึงตามหลังอียูเกือบ 10 ปี จากปกติจะช้ากว่ายุโรป 5-6 ปีเท่านั้น และจากปัญหาฝุ่นละออง P.M.2.5 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้ สมอ.และ สศอ.เดินหน้าปรับมาตรฐานการผลิตสู่ EURO 5 ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในไทยส่งจำหน่ายต่างประเทศผลิตรถยนต์มาตรฐาน EURO 5 อยู่แล้ว
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ 11 บริษัท 12 ยี่ห้อที่ร่วมแสดงเจตจำนง ได้แก่ Audi, BMW, Isuzu, Mazda, Mercedes-Benz, Mitsubishi, Mini, MG, Nissan, Suzuki, Toyota และ Volvo ค่ายรถยนต์จะเร่งรณรงค์ให้ลูกค้าที่ใช้รถยนต์มาตรฐาน Euro 4 เติมน้ำมันที่ได้มาตรฐาน Euro 5 ที่มีจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจะช่วยลดมลพิษโดยเฉพาะฝุ่นละออง P.M. ได้กว่าร้อยละ 20 – 25 ปัจจุบันมีผู้ใช้น้ำมัน Euro 5 ในประเทศเพียง 70 ล้านลิตรต่อเดือน ทั้งนี้ ภาคการผลิตมีกำลังการผลิตเต็มศักยภาพปัจจุบันสูงถึง 500 ล้านลิตรต่อเดือน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. เปิดเผยว่า สมอ.จะจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ตามมาตรฐาน EURO 5 เสร็จปลายปี 2562 และประกาศต้นปี 2563 ให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2564 รวมทั้งจะเร่งดำเนินการปรับมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ให้เทียบเท่า Euro 6 ภายในปี 2565 โดยจะหารือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ถึงความพร้อมต่อไป
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยอมรับว่า การผลิตรถยนต์ของไทยยังเป็นมาตรฐาน Euro 4 ซึ่งการปรับเปลี่ยนไปเป็นสู่เทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 ภายในปี 2564 เช่นเดียวกับต่างประเทศ เพื่อลดการปล่อยฝุ่นพิษลงน้อยละ 80 ทางโตโยต้า สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะปัจจุบันผลิตรถยนต์รองรับ Euro 5 เพื่อส่งออกและช่วยลดการปล่อยฝุ่นละออง P.M.2.5 ส่วนการจะปรับเปลี่ยนไปจาก Euro 5 สู่มาตรฐาน Euro 6 ในปี 2565 นั้น ยอมรับว่า ต้องรอดูความพร้อมผลิต โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องรองรับการเผาไหม้ เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่น รวมถึงการพัฒนาน้ำมันที่จะมารองรับ เพราะไทยมีน้ำมันหลายชนิด เชื่อว่าต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวของค่ายรถยนต์
ส่วนการผลิตรถยนต์รองรับการน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ บี 20 ยอมรับว่า อยากให้ภาครัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์นั่ง เช่น รถปิ๊กอัพ เพื่อรองรับการใช้น้ำมันบี 20 เพราะค่ายรถยนต์มีความพยายามจะพัฒนารุ่นรถให้รองสามารถรองรับการใช้น้ำมันบี 20 มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย