กทม.20ก.ค.-โพลพบประชาชนส่วนใหญ่เตรียมตัวกระตือรือร้นต่อเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้มากเหมือนปีที่แล้ว 7กิจกรรมที่ตั้งใจทำ คือทำบุญตักบาตรไหว้พระ เวียนเทียน–อยู่บ้าน-ทำกิจกรรมกับครอบครัว-กลับภูมิลำเนา–ท่องเที่ยว-ทำงาน-เที่ยวสถานบันเทิง พร้อมเสนอรัฐรณรงค์งดเหล้าอย่างจริงจังในช่วงเทศกาล
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องเทศกาลเข้าพรรษา2561กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,210 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-10 ก.ค.2561 พบว่าการเตรียมตัวและความกระตือรือร้นของคนไทยต่อเทศกาลเข้าพรรษาในปีนี้กับปีที่แล้ว กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 65.45 ระบุว่ามากเหมือนเดิม ร้อยละ20.63 น้อยเหมือนเดิม ร้อยละ10.60 มากขึ้นกว่าเดิม และร้อยละ 3.32 น้อยลงกว่าเดิม
สำหรับกิจกรรมที่ตั้งใจทำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา อันดับ 1 กิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ไหว้พระ เวียนเทียน ร้อยละ 80.40 ,อันดับ 2 พักผ่อนอยู่บ้านร้อยละ37.22 ,อันดับ3 ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวร้อยละ 33.09 อันดับ 4 เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเยี่ยมครอบครัว ญาติ พี่น้อง ร้อยละ 12.66 อันดับ 5 กิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ร้อยละ 11.00 อันดับ 6 ทำงาน ร้อยละ 2.23 และอันดับ 7 เที่ยวสถานบันเทิง ร้อยละ 0.17
ส่วนการให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ร้อยละ 51.66ให้ความสำคัญปานกลาง ร้อยละ34.25 ให้ความสำคัญมาก ร้อยละ 7.21 มากที่สุด ร้อยละ 5.80 น้อย และร้ออยละ 1.08 น้อยที่สุด
ขณะที่สิ่งที่ตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ร้อยละ 71.25 ปฏิบัติตนเหมือนทุกๆวัน ,ร้อยละ 26.18 งดเหล้า ,ร้อยละ 19.97 รักษาศีลอย่างเคร่งครัด,ร้อยละ 9.53 งดบุหรี่, ร้อยละ 0.66 ทำบุญตักบาตร และร้อยละ 0.50 บวช
สำหรับการเตรียมค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ โดยเฉลี่ยในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 1.ให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง 3,299 บาท 2.ค่าที่พัก 3,084 บาท 3.ค่าซื้อสินค้า เช่น ของที่ระลึก ของฝาก เป็นต้น 1,070 บาท 4.ค่าอาหาร 992 บาท 5. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าน้ำมัน ค่ารถโดยสาร เป็นต้น 721 บาท และ 6.เงินทำบุญ 692 บาท
เมื่อถามถึงความตั้งใจในการทำบุญ ภายหลังจากรับทราบข่าวไม่ดีต่างๆ ที่กระทบต่อพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.08 ตั้งใจทำบุญเท่าเดิม ร้อยละ 17.04 ตั้งใจทำบุญน้อยลง และร้อยละ 4.88 ตั้งใจทำบุญมากขึ้น
สำหรับระดับความเชื่อความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาที่ถูกสั่นคลอนจากข่าวไม่ดีต่างๆ ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.03 ระบุว่าปานกลาง , ร้อยละ 19.54 น้อย, ร้อยละ 17.22 มาก ร้อยละ 12.25 มากที่สุด และร้อยละ 5.96 น้อยที่สุด
คำถามว่าสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ร้อยละ 52.03 ดีเหมือนเดิม ร้อยละ 32.92 แย่เหมือนเดิม ร้อยละ 7.94 ดีขึ้นกว่าเดิม และร้อยละ 7.11 แย่ลงกว่าเดิม
ส่วนการใช้จ่ายในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้เทียบกับเทศกาลเข้าพรรษาปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.64 คาดว่าจะใช้จ่ายเท่าเดิม , ร้อยละ 17.95 คาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และร้อยละ 12.14 คาดว่าจะใช้จ่ายลดลง
ความตั้งใจทำบุญในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้เทียบกับเทศกาลเข้าพรรษาปีที่แล้ว ร้อยละ 75.85 ตั้งใจจะทำบุญเท่าเดิม ร้อยละ 16.95 ตั้งใจจะทำบุญน้อยลง ร้อยละ 7.20 ตั้งใจจะทำบุญมากขึ้น
การคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวในอีก 6เดือนข้างหน้า ร้อยละ 36.51 แย่เหมือนเดิม, ร้อยละ 33.28 ดีเหมือนเดิม , ร้อยละ 25.91 ดีขึ้นกว่าเดิม และร้อยละ 4.30 แย่ลงกว่าเดิม
สำหรับเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลรณรงค์ให้เห็นเป็นรูปธรรมในเทศกาลเข้าพรรษา ร้อยละ 40.10 รณรงค์ให้งดเหล้าช่วงเข้าพรรษาอย่างจริงจัง,ร้อยละ 22.96 ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ,ร้อยละ18.82 รณรงค์ให้ประชาชนมาเข้าวัดทำบุญกันมากขึ้น ,ร้อยละ 12.02 ปิดสถานบันเทิงตลอดช่วงเทศกาล และร้อยละ 3.25 อนุรักษ์การแต่งกายด้วยชุดไทยมาทำบุญ .-สำนักข่าวไทย