รร.อินเตอร์คอนฯ 19 ก.ค. – ขุนคลังยอมรับเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดันหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นร้อยละ 48 ของจีดีพี จัดทำงบประมาณแบบสมดุล 11 ปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขจีดีพีโตร้อยละ 5 ช่วยหนุนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางหุ้น ครึ่งปีหลัง” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต้องการผลักดันการเบิกจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้า ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ สนามบิน ยอมรับว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทในช่วง 4 ปีข้างหน้า จะผลักดันให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากร้อยละ 40.4 ขยับเพิ่มสูงสุดเป็นร้อยละ 48 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายความมั่นคงทางการคลังที่ร้อยละ 60 เศรษฐกิจของไทยเติบโตต่อเนื่อง นับว่าจีดีพีของไทยมีศักยภาพขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4-5 ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานอื่นคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยขยายตัวร้อยละ 4.4-4.5 ในปีนี้
ส่วนการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในช่วง 11 ปีข้างหน้า การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน และทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน หากเศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 4 ต้องใช้เวลาถึง 18 ปี จึงต้องผลักดันจีดีพีให้เติบโตร้อยละ 5 ใช้เวลา 11 ปี จึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีด้วยการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่หลีกเลี่ยงหรือเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยกรมสรรพากรจะเน้นการแนะนำการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่เน้นการตรวจสอบติดตามย้อนหลัง ดังนั้น นโยบายการคลังจึงมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินของ ธปท.ยังคงต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อส่งเสริมให้การเกิดการลงทุน เพราะหากขยับเพิ่มดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเงินบาทแข็งค่านานเกินไปอาจกระทบการส่งออกและเป้าหมายการสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตร เพื่อหลุดพ้นความยากจน
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนตามภาครัฐ หลังจากช่วงที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรเฉลี่ยร้อยละ 10-20 ขณะที่จีดีพีเติบโตเพียงร้อยละ 1-2 เพราะบริษัทขนาดใหญ่ได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงไทยมีปัญหาทางการเมือง ด้วยการซื้อสินทรัพย์ช่วงเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ทำให้ขณะนี้เอกชนรายใหญ่เติบโตขึ้นได้ ในขณะนี้จึงเหมาะกับการลงทุนเพิ่มในประเทศ เมื่อรัฐบาลมุ่งการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อหวังให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ มุ่งหวังให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางท่าเรือน้ำลึกของภูมิภาค การพัฒนารถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีศักยภาพมากขึ้น เห็นได้จากบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทยติด 50 อันดับสูงสุดของโลก ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เซ็นทรัล ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ขณะที่รายได้ของบริษทจะทะเบียนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศถึงร้อยละ 46 ของรายได้รวม นับว่าเงินลงทุนต่างประเทศสูงมาก เช่น กลุ่มอาเซียน เอเชียเหนือ สหรัฐ เมื่อไทยต้องการชูจุดขายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงต้องมุ่งพัฒนาด้านการลงทุน เพราะขณะนี้แหล่งทุนสำคัญของไทย 3 แหล่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์มียอดหนี้รวม 12-15 ล้านล้านบาท ตลาดตราสารหนี้ 9 ล้านล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ฯ 7 ล้านล้านบาท จึงเป็นแหล่งทุนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก แต่นักลงทุนยังคงเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความมั่นคงในการหวังผลตอบแทนที่มั่นคง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท คาดว่ารายได้ของปตท.ในปี 61-63 จะมีอัตราการเติบโตปีละร้อยละ 2-3 ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น โดยในปี 61 คาดว่าราคาน้ำมันปรับขึ้นมาที่กว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีก่อนราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่แปรผันไปตามราคาตลาดโลก ก็มีผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของกำไรจะเติบโตต่ำกว่ารายได้.-สำนักข่าวไทย