กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – กรมชลฯ เร่งปิดช่องคันดินพนังกั้นลำน้ำยังที่ขาดบริเวณบ้านท่าเยี่ยม จังหวัดร้อยเอ็ด ให้เสร็จโดยเร็ว รวมทั้งบริหารจัดการลำน้ำชีไม่ให้ไหลไปสมทบกับลำน้ำยัง เพื่อลดความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมพื้นที่เกษตร
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเร่งนำวัสดุทั้งถุง Big Bag ดิน ทราย หินใหญ่ เข็มผืดเหล็ก และกล่องลวดเหล็ก และเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปปิดช่องคันดินพนังกั้นลำน้ำยังที่ขาดบริเวณบ้านท่าเยี่ยมตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเกิดจากน้ำกัดเซาะจนทรุดตัวค่อย ๆขาดกว้างประมาณ 10 เมตร ในช่วงเช้าของวานนี้ (16 ก.ค.) จากสภาพฝนที่ตกหนักติดต่อกันในช่วงวันที่ 11 – 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำยังเพิ่มขึ้นจนมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้คันดินพนังกั้นน้ำขาดน้ำไหลเข้าท่วมที่นาฝั่งขวาของน้ำยังด้านในพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทานประมาณ 300 ไร่ และเข้าท่วมพื้นที่นาฝั่งซ้ายลำน้ำยังซึ่งอยู่นอกเขตคันพนังป้องกันอุทกภัยน้ำยังบริเวณตำบลเหล่าน้อย และตำบลศรีวิลัย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 2,400 ไร่ รวมพื้นที่น้ำท่วม 2 ฝั่งลำน้ำยัง ประมาณ 2,700 ไร่ แต่ระดับน้ำยังไม่ท่วมยอดข้าว
สำหรับสถานการณ์น้ำในลำน้ำยังเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่สถานีวัดน้ำ E.92 บ้านท่างาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.95 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 367.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มในพื้นที่ คาดว่าระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตพนังกั้นน้ำจะมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ในช่วงเช้าของวันนี้ (17 ก.ค.)
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากลำน้ำยัง โดยประสานไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ดลดการระบายน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำในแม่น้ำชี พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำในส่วนของเขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำชีลงสู่แม่น้ำมูลที่ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีได้อีกมาก โดย จะเร่งซ่อมแซมพนังกั้นน้ำยังให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดและบรรเทาผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรรอบนอกเขตพนังกั้นน้ำและฝั่งด้านในซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทานได้อย่างมาก
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ฝนยังตกชุกกระจายและตกหนักบางแห่งในภาคอีสาน อาทิ ร้อยเอ็ด นครพนม มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และยโสธร จึงสั่งให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่เร่งพร่องน้ำลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมวางมาตรการเร่งด่วน คือ ให้ชะลอน้ำที่มาจากแม่น้ำชีด้านเหนือจังหวัดร้อยเอ็ด และเร่งระบายตลอดจนผลักดันน้ำด้านท้ายแม่น้ำชีลงสู่แม่น้ำมูล ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมทั้งชะลอน้ำในแม่น้ำมูลตอนบนไม่ให้ไหลมาสมทบ เพื่อให้น้ำในแม่น้ำชีไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ลำเซบาย เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำที่ท่วมขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำแถบริมตลิ่งยังไม่ขยายวงกว้าง คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้สถานการณ์จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ.-สำนักข่าวไทย