กทม. 13 ก.ค.-สังคมคัดค้าน ม.นเรศวร ให้ทุนหมูป่า ด้านอธิการบดี เผยกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Natthachai Ramphoei ว่า ไม่ได้มองเพียงแค่ว่าเค้าเป็นผู้ประสบภัย
หลังจากที่มหาวิทยาลัยณเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เรื่อง การสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คน หากสนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารย์ต่างๆ มากมาย เช่นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Natthachai Ramphoei อดีตรองประธานสภานิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร อดีตกรรมการองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ฯลฯ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นส่วนตัว หวังว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะได้เห็น (หลายๆท่านเป็นเพื่อนในfacebookกับผม) และตระหนักถึงปัญหาจากเหตุการณ์ข้างต้น โดยทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเล็กๆของผมแต่เพียงผู้เดียว
1.ผมเห็นว่าน้องๆหมูป่าเป็นผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสมควรได้รับการเยียวยา
2.ย่อมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาน้องๆอยู่แล้ว มิใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัย
3.การให้ทุนการศึกษาควรพิจารณาจากผลงาน ฐานะทางบ้าน ผลการศึกษา ไม่ควรใช้เยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติอันไม่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
4.มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการชี้นำสังคมในค่านิยมที่ถูกต้อง
5.ผมขอเรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรตรงๆ โดยเฉพาะอาจารย์กาญจนา (อธิการบดี) ที่เคารพ ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของท่านเป็นเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อครหาต่อมหาวิทยาลัยนเรศวรไปในวงกว้าง จึงขอให้ออกมาชี้แจงเหตุผล “อันเหมาะสม”
หลังโพสต์ข้อความก็ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับทางมหาวิทยาลัยที่จะให้ทุนการศึกษา
จากนั้น 4 ชั่วโมง นพ.ณัฎฐชัย รำเพย ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Natthachai Ramphoei (เจ้าเดิม) ก็ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นอีกครั้งว่า ล่าสุดผมได้ติดตามข่าวกรณีมหาวิทยาลัยนเรศวรให้ทุนการศึกษาน้องๆหมูป่าจนจบปริญญาเอก…จากสื่อที่ลงว่า “เป็นทุนจากโครงการกองทุนบัณฑิตคืนถิ่น เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรกได้รับทุนจากเอกชนและรัฐ และหากใครสำเร็จการศึกษาจะต้องกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตามภูมิลำเนา” (ในส่วนนี้ผมยังไม่ได้ตรวจสอบกับทางมหาวิทยาลัยว่าจริงหรือไม่) และมีบทสัมภาษณ์อาจารย์กาญจนา(อธิการบดี)โดยอาจารย์ได้กล่าวว่า
“…มองเห็นภาวะผู้นำของหัวหน้าคือโค้ช และดิฉันมองเห็นความมีวินัยของเด็ก คนเหล่านี้เนี่ยบางทีเราก็ควานหาเพชรจากในสังคมไทย ถ้าหากว่าเด็กชุดนี้เค้าสะท้อนตัวเค้าเองมาแบบนี้ดิฉันก็คิดว่าสังคมน่าจะสนับสนุนเค้านะ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเค้าเป็นผู้ประสบภัยอย่างเดียว คือไม่ได้ เราไม่อยากเป็นกระแสนะ…ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเป็นอุดมศึกษาดิฉันก็เพียงแค่ว่ามีอะไรที่จะตอบแทนแผ่นดินนี้ได้บ้าง ความจริงเราอยากจะช่วยทายาทจ่าสมานด้วยซ้ำไปแต่เผอิญได้ทราบว่าเค้าไม่มีลูกก็เลยไม่ได้พูดถึง…”
ผมจึงขอแสดงความเห็นของผมดังนี้
1.กระบวนการพิจารณาทุนการศึกษา(โดยเฉพาะทุนที่ให้ถึงปริญญาเอก) จำเป็นต้องมีกระบวนที่รัดกุม รอบคอบ มิใช่เพียงเห็นถึงภาวะผู้นำของโค้ชและความมีวินัยของเด็ก
2.กระบวนการคัดเลือกนิสิตรับทุนควรเป็นธรรมต่อนักเรียนทุกๆคน ไม่ใช่ให้ทุนเป็นการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติ
3.การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินดังที่กล่าวอ้างในบทสัมภาษณ์ ควรทำให้ตรงกับบริบทของมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย พยายามติดต่อศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้.-สำนักข่าวไทย