รร.เรเนอซองส์ 22 ก.ย. – ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยมองเฟดคงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปีนี้ ชี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ยอดสินเชื่ออุปโภคบริโกคและซัพพลายเชนเติบโตดี พร้อมเปิดบริการขายลดเช็คอิเล็กทรอนิกส์ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วงร้อยละ 0.25-0.50 เป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเปราะบางและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในอนาคตยังเป็นสิ่งที่ท้าทายและเชื่อว่าปีนี้อาจจะไม่เห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนต่างชาติคาดว่าจะยังลงทุนอยู่ในตลาดทุนและตลาดพันธบัตรของไทยต่อไป เพราะตลาดหุ้นในภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดสหรัฐและยุโรป
นายทรงพล กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ สัญญาณการบริโภคเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากสินเชื่อที่เกี่ยงข้องกับการอุปโภคบริโภคและสินเชื่อซัพพลายเชน ขยายตัวดี โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไปแล้ว 10,000ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มียอดปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภคและซัพพลายเชนจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 20,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงทนยังไม่ฟื้นตัวคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเช่นเดียวกับสินเชื่อสินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง
นายทรงพล กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยร่วมมือกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์คอร์ปอเรชั่น หรือ KTIS โรงงานน้ำตาลโรงเดี่ยวที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศให้บริการขายลดเช็คอิเล็กทรอนิกส์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม เพื่อช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการรับซื้อลดค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อย โดยเกษตรกรผู้ใช้บริการแจ้งเลขที่บัญชีที่ใช้รับเงินค่าเกี๊ยวอ้อยกับโรงงานน้ำตาลและสาขาของธนาคารกรุงไทย เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าเกี๊ยวอ้อยธนาคารจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติ โดยโรงงานน้ำตาลไม่ต้องเขียนเช็คจำนวนมากให้เกษตรกรและเกษตรกรก็ไม่ต้องนำเช็คค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยไปขึ้นเงินธนาคารเหมือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในเฟสต่อไปประมาณปลายปีนี้ธนาคารจะพัฒนาบัตรเดบิต เพื่อส่งเสริมให้เกษตกรผู้ปลูกอ้อยที่อยู่ในกลุ่มสามารถนำบัตรเดบิตไปจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ ค่าปุ๋ย โดยมีส่วนลดให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการเพาะปลูกและถือเป็นการสนับสนุนระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ National e Payment ของรัฐบาล.- สำนักข่าวไทย