บุรีรัมย์ 21 มิ.ย. – BRR เล็งขยายกิจการทั้งธุรกิจชีวภาพ สร้างโรงงานน้ำตาล 2 แห่ง มูลค่าลงทุนแห่งละ 4 – 5 พันล้านบาท ศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่รอความชัดเจนนโยบายรัฐ ชี้ค่าไฟฟ้า 2.40 บาท ไม่คุ้มทุน
นายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด ในกลุ่ม บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า จากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตผลิตน้ำตาลทรายใหม่อีก 2 โรงงานในจังหวัดสุรินทร์ และ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ กำลังการผลิตแห่งละ 20,000 ตันอ้อย/วัน นั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 4 – 5 พันล้านบาท จะเริ่มดำเนินการหลังจากได้รับความเห็นชอบการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว โดยจะดำเนินการเร็วสุดได้ในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กำลังผลิต 23,000 ตันอ้อย/วัน มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลกว่า 7.5 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 29.7 เมกะวัตต์ (MW) โดยโรงไฟฟ้า 2 แห่งขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 16 เมกะวัตต์ สามารถสร้างรายได้แห่งละประมาณ 200 ล้านบาท/ปี ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 1 แห่ง จะขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม BRR สามารถสร้างรายได้ได้ราว 48 ล้านบาท/ปี
ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนหม้อต้มใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดลงราว 10 – 15% และทำให้มีกากอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตราว 1 แสนตัน/ปี ตั้งแต่ปี 62 ซึ่งเพียงพอที่จะใช้จัดสรรสำหรับรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ได้อีก 1 แห่ง ขนาด 8-10 เมกะวัตต์ แต่การดำเนินการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ยังขึ้นกับนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐบาลด้วย เพราะหากกระทรวงพลังงานประกาศรับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วยคงทำไม่ได้แน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่านี้โดยเห็นว่าระดับ 3.60 บาทต่อหน่วยจึงจะคุ้มค่าการลงทุน
นอกจากนี้ปริมาณกากอ้อยที่เหลือยังเพียงพอสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตภาชนะจากชานอ้อย ที่กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท กำลังการผลิตราว 1 ล้านชิ้น/เดือน
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยังมองโอกาสการลงทุนธุรกิจไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นทิศทางของโลกที่มุ่งสู่ธุรกิจดังกล่าวด้วย โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทก็มีการศึกษาวิจัยในหลายผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้
นางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจนเนอเรชั่น จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017-2018 และBECส่งประกวดASEAN Renewable Energy Project Competitionและคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโคเจนเนอเรชั่นในปี 60 ส่วน BPC เข้าร่วมประกวด ปี 61 ซึ่งจะตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนต.ค. ที่ประเทศสิงคโปร์.-สำนักข่าวไทย