กรุงเทพฯ 20 มิ.ย.-ประธานสถาบันอัญมณีฯ มอบนโยบายการทำงานช่วงครึ่งปีหลัง เน้นส่งทีมลงพื้นที่พัฒนาเครื่องประดับอัตลักษณ์ชุมชน พร้อมจับมือ ททท. ดันให้เกิดเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับ ดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้าเที่ยวชม
นายราเชนทร์ พจนสุนทร ประธานบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (จีไอที) เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายการทำงานในช่วงครึ่งปีหลังให้กับจีไอที โดยขอให้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพธุรกิจอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการประกอบกิจการและสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีสินค้าเครื่องประดับอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น เฉพาะตัว ต้องเข้าไปส่งเสริมให้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยพัฒนาเครื่องทองสุโขทัย เครื่องเงินล้านนาเชียงใหม่ เครื่องเงินชนเผ่าเมืองน่าน มุกอันดามันจากภูเก็ต รวมถึงพลอยสีจันทบุรีและตากแล้ว ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น และได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีการผสมผสานระหว่างศิลปะดั่งเดิม กับเทรนด์แฟชั่นสมัยใหม่เข้าไป ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ และกำลังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอัตลักษณ์เครื่องประดับท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ เพิ่มเติม เช่น แพร่ ตราด สุรินทร์ สตูล และเพชรบุรี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าและนำจุดแข็งของท้องถิ่นและศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาประยุกต์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าได้แล้ว จีไอทีจะช่วยในการพัฒนาช่องทางการตลาด โดยได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันให้เกิดเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่ๆ เป็นแหล่งผลิต เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้าไปเที่ยวชม และหาซื้อสินค้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยปีละกว่า 35 ล้านตัน จะมีการผลักดันให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่า เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย ก็ต้องซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไปเป็นของใช้ ของฝาก ในทำนองเดียวกับไปฝรั่งเศสต้องซื้อน้ำหอม หรือไปอิตาลี ต้องซื้อเครื่องหนัง นอกจากนี้ยังจะช่วยในการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การนำไปออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้พัฒนาไปเป็นผู้ส่งออกในอนาคต
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีรายได้รวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นการค้าขายภายในประเทศประมาณ 5 แสนล้านบาท และส่งออกประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมา จีไอทีได้สร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าภายในประเทศด้วยการผลักดันให้มีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและขอใบรับรองสินค้า และผลักดันโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย