กทม. 18 มิ.ย.-คับข่าวมีของ มีประเด็นร้อนเรื่องไพรมารีโหวตมานำเสนอ ทั้งวิธีการ ขั้นตอน ความเห็นของพรรคการเมืองและนักวิชาการ
หลังรัฐบาลเชิญผู้เกี่ยวข้องมาเพื่อถกปัญหาอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง และเสนอ 4 ปัญหา 3 ทางออก ให้คลายล็อกเปิดช่องทำไพรมารีโหวตได้นั้น หลายคนอาจจะยัง งงๆ สงสัย ว่าระบบไพรมารีโหวต ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้งปีหน้านั้นคืออะไร ทำไปทำไม ทีมข่าวการเมือง จะขอสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ให้ได้เห็นภาพ ว่าไพรมารีโหวตก็คือการให้สมาชิกพรรคมีส่วนเลือกตัวแทนในดวงใจลงสมัครรับเลือกตั้ง แทนการตัดสินใจเฉพาะนายทุนพรรค ป้องกันระบบเด็กเส้นเด็กฝากนั่นเอง
ไพรมารีโหวตต้องทำทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ โดยที่ประชุมของสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ซึ่งการประชุมสาขาพรรคสมาชิกต้องมาประชุมกันไม่น้อยกว่า 100 คน ส่วนการประชุมตัวแทนพรรคสมาชิกต้องมาประชุมไม่น้อยกว่า50คน การลงคะแนนเพื่อเลือก ผู้สมัครส.ส.เขต ให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้ 1 คน ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้เลือกได้ 15 คน จากทั้งหมด 150 ชื่อ
เมื่อเลือกกันเสร็จ กรรมการสรรหาจะส่งรายชื่อ 2 คนที่ได้คะแนนสูงสุดของผู้สมัคร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อที่เรียงตามลำดับคะแนน 150 คน ไปให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาจัดทำรายชื่อเสนอ กกต.เช็คคุณสมบัติก่อนประกาศรับรองเป็นผู้สมัครแต่ละพรรค
ปฏิเสธไม่ได้ว่าไพรมารีโหวตเป็นระบบที่จะเพิ่มความยุ่งยากให้พรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ กำลังใจจดจ่อ รอทำกิจกรรมพรรค แต่ยังติดคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 อยู่ จึงยังไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นที่มาของเสียงเรียกร้องให้ออกมาตรา 44 เพื่อไม่ต้องทำไพรมารีโหวต เพราะอาจเตรียมตัวไม่ทัน ขณะที่ความรู้สึกของฟากฝั่งการเมือง3 พรรค ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และรวมพลังประชาชาติไทย เห็นตรงกันว่า พร้อมดำเนินการภายใต้กติกาที่เป็นธรรมแต่อยากให้รีบปลดล็อคให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้
ขณะที่ในมุมนักวิชาการหนุนให้ใช้ไพรมารีโหวต เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองยุคใหม่ ที่ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
การตัดสินเรื่องไพรมารีโหวตคงต้องรอดูผังกรอบเวลาที่ กกต. จะจัดทำ จึงจะรู้ว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่ยังไงก็แล้วแต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่ในปีหน้า ตามคำมั่นสัญญาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่จะทันเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้องขยับไปอีก 2-3 เดือน คงต้องรอดูกัน
บทสรุปที่ลงตัวของการแก้ปัญหาเรื่องนี้อาจต้องคุยกันอีกหลายรอบ รวมถึงการนัดหมายที่จะพูดคุยกับพรรคการเมือง ซึ่งคงมีคำถามมากมายที่รอคำตอบจากปากนายกรัฐมนตรี ที่จะผ่าทางตันเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบไพรมารี่โหวตอาจไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งของประเทศไทยอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย