สำนักข่าวไทย16 มิ.ย.-ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาฯและนายกสมาคมเปรียญธรรม 9 เผยเรื่องพระจับเงิน จับทอง มีมาแต่สมัยพุทธกาล ผิดเพียงอาบัติเบา วอนสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สังคม
นายรักสยาม นามานุภาพ นายกสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค กล่าวว่า จากการที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)มีคำสั่งขอข้อมูลพระที่ไม่ถือเงินสดและบอกว่าผิดพระธรรมวินัย แม้สุดท้ายจะออกมาแถลงข่าวว่า เพียงต้องการหาวัดตัวอย่างที่พระไม่จับเงิน เพื่อให้นำไปพิจารณาตามความเหมาะสมนั้น ทำให้สังคมเกิดความสับสนและมองพระสงฆ์ที่ใช้จ่ายเงินในกิจส่วนตัวไปในทางเสียหาย และเข้าใจผิดในพระธรรมวินัย ซึ่งสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้ประสานกับนายวรกร พงศ์ธนากุล ประธานเครือข่ายทนายและประชาชนปกป้องพระพุทธศาสนา ให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้อำนวยการ พศ.แล้วว่ามีอำนาจหรือไม่ในการออกคำสั่ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคม (มส.)
นายรักสยาม กล่าวต่อว่า จากการไปศึกษาใน สิกขาบทที่ 8 ทรงบัญญัติไว้ว่า ชาตรูปํ วา รชตํ วา แปลว่าทองคำ เงิน เครื่องประดับทองคำ เครื่อง ประดับเงิน แร่ทอง แร่เงิน รับหรือให้เขารับไว้เพื่อตนไม่ได้ ยกเว้นสงฆ์อนุญาตให้มีหน้าที่รับ สิกขาบทที่ 9 รูปิเยน กยํ วา วิกยํ วา แปลว่า รูปิยะ เงินเหรียญ ธนบัตร เช็ค บัตรเครดิต รับไว้ใช้สอยสิ่งจำเป็นได้ แต่อย่าไปทำธุรกิจซื้อขายเหมือนฆราวาส และอย่าเก็บสะสมเป็นลาภสักการะ ส่วนสิกขาบทที่10อย่าเอาของไปแลกเปลี่ยนของกับโยมหรือเดียรถีย์นอกศาสนา เช่น เอาจีวร ไปแลกผ้าโพกหัว ไม่ได้ ซึ่งเมื่อพระได้กระทำผิดดังกล่าวข้างต้น จะมีโทษในระดับ ‘ลหุกาบัติ’ หรือ ‘อาบัติเบา’ ซึ่งมีโทษน้อย ให้สารภาพและตั้งใจสำรวมระวังใหม่ได้
นายรักสยาม กล่าวด้วยว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบมรดกสำคัญกก่อนปรินิพพาน คือหลักมหาประเทศ 4 สิ่งใดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสมัย ควรมี ไม่ควรมี ให้ทรงอนุญาตได้ หากหมู่สงฆ์หรือพระราชา เห็นควรถือว่าไม่ผิด ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงไม่สุดโต่ง อยากให้ยึดปฏิบัติส่วนนี้ด้วย หากพระใช้จ่าย เงินเพื่อสังคมส่วนรวม ถือว่าได้สร้างประโยชน์และคุณูปการด้านศาสนา
ด้านพระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส กล่าวถึงกรณีที่มีหนังสือขอข้อมูลด้านการเงินที่พระไม่ถือเงินสดและนำเข้าบัญชีส่วนกลางของวัดทันที เพื่อต้องการหาวัดตัวอย่างและนำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัดนั้นๆ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย จนเกิดเป็นกระแสในสังคมว่า ที่จริงแล้วพระจับเงิน ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ ว่า หากคิดตามหลัก
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ 8,9 และ10 ที่เป็นวินัยหลัก การที่พระจับเงินจับทอง หรือแม้กระทั่งยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ ก็ถือว่าผิดตามวินัยหลักข้อนี้ที่พระสงฆ์ยึดถือปฏิบัติมา แต่หากไล่เรียงไปในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า เคยทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ปัจจัยได้ แต่ต้องมี ‘กัปปิยการก’ หากเทียบในปัจจุบัน คือไวยาวัจกร หรือลูกศิษย์วัด ถือเงินถือทองของภิกษุและใช้จ่ายในกิจส่วนตัวแทน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ พระสงฆ์ 3 แสนกว่ารูป ในประเทศไทย ไม่ได้มีไวยาวัจกรหรือลูกศิษย์ ครบทุกรูป ดังนั้นจึงอยากให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านงานพระพุทธศาสนามาหารือกัน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
ทั้งนี้ การรับเงินรับทอง ถือว่าเป็น ‘นิสสัคคิยปาจิตตีย์’ หรืออาบัติเบา พระสงฆ์ก็สามารถปลงอาบัติได้ .-สำนักข่าวไทย