นครสวรรค์ 11 มิ.ย. – ก.อุตสาหกรรมหารือเอกชนภาคเหนือตอนล่าง 2 รับเร่งโครงการ bio complex เตรียมเสนอ ครม.สัญจรพิจารณา
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี และกำแพงเพชร) ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 ณ จังหวัดนครสวรรค์
นายสมชาย กล่าวว่า ภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (bio complex) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้บรรจุเป็นโครงการนำร่อง bio complex ในมาตรการเร่งรัดการลงทุนในประเทศภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561 – 2570 แล้ว
ทั้งนี้ โครงการนำร่อง bio complex มีมาตรการสำคัญ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การกระตุ้นให้เกิดความต้องการของตลาดในประเทศ 2.การเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยจะผลักดันภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านชีวภาพของประเทศใน 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น และเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์และกำแพงเพชร ซึ่งจะดำเนินการปี 2560-2564 เช่น โครงการ Bio complex 10,000 ล้านบาท และโครงการผลิตกรดแลคติก (Lactic Acid) สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ 6,500 ล้านบาท เป็นต้น 3. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตโดยพิจารณาทบทวนปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ และ 4.มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: COBE)
สำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มีหน้าที่หลักด้านการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หากมีการขับเคลื่อน bio complex ให้เป็นรูปธรรมได้ตามแผนเร่งรัดการลงทุนในประเทศจะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท และปี 2570 เกษตรกรจะมีรายได้ เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 75,000 บาทต่อครัวเรือน คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มิถุนายนนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุม
นอกจากนี้ ภาคเอกชนในพื้นที่ยังเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากพืชหลักในพื้นที่ เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยภาคเอกชนขอให้ช่วยสนับสนุน 3 ข้อ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 3212 การวางท่อส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร และการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางส่งเสริมให้จังหวัดกำแพงเพชรเป็นศูนย์กลางการผลิตมันสำปะหลัง มีการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงจากผลิตผลการเกษตรให้มากขึ้น
นายชนะศิริ วานิช ผู้อำนวยการบริษัทร่วมทุน GGC กล่าวว่า สำหรับการลงทุนระยะที่ 2 จะเน้นพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงทั้งพลาสติกชีวภาพ ตลอดจนชีวเวชภัณฑ์หรือยา ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพิ่มอีก 1.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณความต้องการใช้อ้อยรวม 3.9 ล้านตันต่อปี ซึ่งภายใน 5 ปี คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ 75,000 บาทต่อคนต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 48,000 บาทต่อคนต่อปี ทำให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตร 10,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานในระดับวิชาชีพ 200-400 ตำแหน่ง คาดจะทำให้เกิดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ 10,000-30,000 ล้านบาทต่อปี.-สำนักข่าวไทย