พัทลุง 7 มิ.ย. – “เกษตรสร้างชาติ” พาไปดูการปลูกแส้ พืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่กำลังได้รับความนิยมบริโภคมากขึ้น ทั้งในพื้นที่ และมีพ่อค้ามารับซื้อส่งขายไปไกลถึงต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
ลุงเยื่อง และป้าน้อม ช่วยเนียม ชาวบ้านขาม หมู่ 7 ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง กำลังกำจัดวัชพืชในแปลงแส้ หรือต้นแส้ พืชผักสวนครัวที่มีลักษณะคล้ายต้นหอม แต่ขนาดหัวและใบเล็กเรียวและแข็งกว่า กลิ่นฉุนเล็กน้อยคล้ายใบกุยช่าย และนับเป็นพืชประจำถิ่นที่มีการปลูกมากที่บ้านขามแห่งนี้
แส้เป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่มีโรค แมลงรบกวน เพียงนำต้นพันธุ์มาแยกหน่อ ปลูกลงดินลึกประมาณ 2 นิ้ว 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม ปลูกเพียง 3-4 เดือน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราว 1 ตัน/ไร่ โดยจะมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อแส้ถึงในหมู่บ้าน ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 40,000 บาท/รอบการปลูก ซึ่ง 1 ปีจะสามารถปลูกได้ 2-3 ครั้ง มีรายได้ร่วมแสนบาท/ไร่/ปี
คุณไพรวัลณ์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ต้นแส้เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง เป็นพืชชอบแสงแดด ทนแล้ง และเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน ในอดีตชาวบ้านนิยมปลูกไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และถือเป็นผักสวนครัวปลอดสารพิษที่กำลังได้รับความนิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และปลูกแซมในร่องสวนยางพาราปลูกใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
สรรพคุณของแส้ ชาวบ้านเชื่อว่า ช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบาย ปัจจุบันในพื้นที่บ้านขาม มีพื้นที่ปลูกแส้ราว 50 ไร่ ทำรายได้เข้าพื้นที่ปีละนับล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ แส้จึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ. – สำนักข่าวไทย