กทม. 13 พ.ค.-จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ หลังคาดว่าจะมีการพิจารณาเสนอแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกให้สามารถนำกัญชามาใช้วิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่สำคัญคือสามารถใช้กัญชาทดลองในคน
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ข้อมูลว่าคณะกรรมการมุ่งเน้นในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ครบวงจร ทั้งพัฒนาสายพันธุ์ สกัด และเตรียมการเพื่อให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยในคน แต่ขณะนี้กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้มีการศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้
สอดรับกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ที่เตรียมเสนอร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หนึ่งในนั้นคือการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อนุญาตให้สามารถปลูก สกัด และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ยกเว้นการเสพ ทำให้ไม่สามารถวิจัยในคนได้ เพราะเท่ากับเป็นการเสพ โดยจะมีการเสนอแก้ไขให้สามารถศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้ ซึ่งหาก ครม. อนุมัติจะเท่ากับเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดที่มีอยู่ พร้อมยืนยันว่ายังไม่มีแนวคิดถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5
สารสกัดจากกัญชาสายพันธุ์ไทยถูกจัดว่าเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ดีที่สุดในโลก แต่ข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้การศึกษาวิจัยหยุดชะงัก ขณะที่ต่างประเทศยังคงมีการพัฒนาและวิจัยทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ หลายหน่วยงานเห็นตรงกันว่าไทยจำเป็นต้องขยับตัว
สถาบันการศึกษาในไทยเองมีการศึกษาวิจัยเช่นกัน อย่างที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการแพ้คีโม หรือรักษาผลข้างเคียงจากยามะเร็ง ในลักษณะยาพ่น ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร แต่ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ไม่สามารถทดลองในคนได้ จึงยังไม่สามารถจดทะเบียนกับ อย. ได้
มีข้อกังวลว่าหากแก้กฎหมายให้สามารถศึกษาวิจัยกัญชาในคนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จะมีการควบคุมดูแลอย่างไรเพื่อไม่ให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทางคณะทำงานยืนยันว่ามีการทำงานภายใต้มาตรการควบคุมของ ป.ป.ส. และ อย. อย่างเข้มงวด อาทิ การทำเลขรหัสประจำต้นกัญชาแต่ละต้น การบันทึกปริมาณสารที่สกัดได้และสารที่มีการนำไปใช้แต่ละครั้ง รวมทั้งตรวจเข้มเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีการหลุดรอดนำออกไปใช้ในทางที่ผิด.-สำนักข่าวไทย