อนุสาวรีย์ชัย10 พ.ค.-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทรสช็อกโกแลต พบ 8 ยี่ห้อมีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก พร้อมเร่ง อย.ออกมาตรการบังคับผู้ผลิตโดยเร็ว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ในโดนัทช็อกโกแลต จำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่ามี 8 ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือควรพบไขมันทรานส์ในอาหารได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ได้แก่
1.ซับไลม์ โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต มีปริมาณไขมันทรานส์สูงสุด 5.59 กรัมต่อชิ้น
2.ฟู๊ดแลนด์โดนัทช็อกโกแลต 3.04กรัมต่อชิ้น
3.ดังกิ้นโดนัทช็อกโกแลตฟลาวเวอร์ มีปริมาณไขมันทรานส์ 2.75 กรัมต่อชิ้น
4.เทสโก้ โลตัส โดนัทรวมรสช็อกโกแลตมีปริมาณไขมันทรานส์ 1.4 กรัมต่อชิ้น
5.บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์โดนัทช็อกโกแลตมีปริมาณไขมันทรานส์ 0.95 กรัมต่อชิ้น
6.มิสเตอร์โดนัทมีปริมาณไขมันทรานส์ 2.86 กรัมต่อชิ้น
7.เอ็นเคโดนัท ริงจิ๋วช็อกโกแลต มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.86 กรัมต่อชิ้นและ8.ยามาซากิโดนัทช็อกโกแลต มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.75 กรัมต่อชิ้น
ส่วนอีก 5 ยี่ห้อที่เหลือ มีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้ยังพบว่าโดนัทช็อกโกแลต ส่วนใหญ่ให้พลังงานสูงด้วยเช่นกันเฉลี่ยที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี่ โดยปริมาณพลังงานมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ
1.โดนัทยี่ห้อ แซง-เอ-ตัวล ให้พลังงาน320 กิโลแคลอรี่ต่อชิ้น 2.ยามาซากิ ให้พลังงาน 313 กิโลกรัมให้ต่อชิ้น 3.ฟู้ดแลนด์ ให้พลังงาน 312 กิโลแคลรี่ต่อชิ้น 4. ซับไลม์โดนัท ให้พลังงาน 301 กิโลแคลอรี่ต่อชิ้น และ 5.เฟลเลอร์ ฟิลด์ให้พลังงาน 298 กิโลแคลอรี่ต่อชิ้น
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันสังเคราะห์ที่ดัดแปลงขึ้นมา เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และขนม เพื่อให้ขนมคงรูปทรง ทั้งในลักษณะของแข็ง กึ่งแข็งกึ่งเหลว เก็บรักษาได้นาน ที่นิยมใช้ เช่นเนยขาว มาการีน ครีมเทียม ซึ่งการบริโภค ไขมันทรานส์เป็นประจำ หรือเกินกว่า 2.2 กรัมต่อวัน ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)เพิ่มขึ้น และทำให้ไขมันดี (HDL)ลดลง ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งสามารถทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งงทำให้หลอดเลือดตีบง่ายขึ้นได้ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์แล้ว และต้องเก็บสินค้าให้หมดภายในกลางปีนี้จึงเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เร่งออกประกาศ กำหนด ห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์เติมมาผลิตอาหารโดยเร็ว หลังจาก อย.เดินหน้ายกร่างประกาศและรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว.-สำนักข่าวไทย