รร.ดุสิต 7 พ.ค. – กกร.มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/61 ขยายตัวต่อเนื่องโตร้อยละ 4 คงคาดการณ์ปีนี้โตร้อยละ 4-4.5 หนุนรัฐเร่งสร้างความชัดเจนเป็นสมาชิก CPTPP
นายสุพันธุ์ มงคงสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2561 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4 เท่ากับการขยายตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2560 เนื่องจากมีแรงหนุนจากภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวสูง ซึ่งส่งผลบวกต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี แม้แรงส่งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศแผ่วลงจากกำลังซื้อฐานรากหรือรายได้เกษตรกรที่ยังหดตัวและการลงทุนที่ชะลอลงก็ตาม
นอกจากนี้ กกร.จะติดตามความคืบหน้าของการลงทุนโดยเฉพาะโครงการภาครัฐที่น่าจะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ ตลอดจนสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป รวมทั้งต้องติดตามข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ซึ่งเบื้องต้นมองว่าอาจจะมีผลกระทบที่จำกัดต่อการส่งออกของไทยปี 2561 รวมทั้งประเด็นข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่านและจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจจะมีผลต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนให้ยังคงปรับตัวผันผวน
อย่างไรก็ตาม กกร.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4-4.5 และคาดว่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5-8 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมองว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.2
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.ยังสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งรัดพิจารณาท่าทีและข้อดีข้อเสียของประเทศไทยต่อความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยเร็วให้มีความชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการเข้าร่วมการตกลงดังกล่าว เพราะข้อกำหนดใน CPTPP หลายเรื่องที่ประเทศไทยไม่เห็นด้วย เช่น เรื่องสิทธิบัตร ได้มีการถอนออกจากข้อตกลงแล้ว ดังนั้น จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย
ประธาน ส.อ.ท.ยังกล่าวถึงกรณีที่จะมีการกำหนดการจ้างแรงงานต่างด้าวให้มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของกิจการแต่ละแห่งนั้น เห็นว่าข้อกำหนดกังกล่าวมีผลกระทบหนักต่อเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอีมมีการจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวนมากประมาณ 10 ล้านคน ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่จ้างแรงงานต่าวด้าวประมาณ 3-4 ล้านคน สามารถใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยลดต้นทุน หากเอสเอ็มอีถูกจำกัดการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องไปจ้างแรงงานส่วนอื่น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและกำลังการผลิตได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวจริงควรกำหนด 2 ลักษณะ สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถกำหนดการจ้างแรงงานต่างด้าวให้มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 20-30 ส่วนเอสเอ็มอี ควรเปิดกว้าง
ขณะที่ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจและการค้าขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำให้ผุ้ประกอบการมีการปรับประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย