ก.คลัง 25 เม.ย. – บสย.เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติ 3 โครงการ หนุนช่วยเอสเอ็มอี ทั้งค้ำประกันรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า ลิสซิ่ง คาดค้ำประกันสินเชื่อทั้งปี 1.1 แสนล้านบาท
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน หรือ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น หลังจาก PGS6 วงเงิน 100,000 ล้านบาท จะสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และมียอดเงินเหลือ 26,000 ล้านบาท เน้นกลุ่มลูกค้าบัญชีเดียว ลูกค้าแบงก์รัฐ และธนาคารพาณิชย์ พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมบางกลุ่มแตกต่างกันเฉลี่ยค้ำประกัน 3-4 ล้านบาท
รวมถึงเดินหน้าขยายโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยระยะที่ 2 เหลือวงเงินเพียง 600 ล้านบาท เน้นกลุ่มรายย่อยที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าทั่วไป เพื่อให้รายย่อยมีสินเชื่อและผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง ลดปัญหาการชาร์จค่าธรรมเนียมผิดนัดจากแบงก์ ไม่เกินร้อยละ 1.5-2 ต่อเดือน และยังหนุนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Non Bank ที่เป็นลิสซิ่ง หวังค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อ เครื่องจักรโรงงาน ก่อสร้าง ขั้นแรกเตีรยมวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้สามารถนำเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ มาค้ำประกันสินเชื่อได้ บสย.ค้ำประกันประมาณร้อยละ 70 ของสินเชื่อ
นางนิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รักษาการแทนผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า คาดว่าทั้งปีจะอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย 110,000 ล้านบาท หลังจากไตรมาส 1/2561 การอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับ 17 ธนาคารพันธมิตร วงเงิน 23,313 ล้านบาท จำนวนหนังสือค้ำประกัน 31,733 ฉบับ ยังอยู่ในขอบเขตดำเนินการ เพราะกลางปีจะมียอดขอค้ำประกันเข้ามาอีกจำนวนมาก ขณะที่ยอด NPL เท่ากับปีก่อนที่ร้อยละ13.4 หรือ 48,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินของเอสเอ็มอีคล่องตัวมากขึ้น ในเดือนมิถุนายนนี้ แผนงานการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้นจาก 3 วัน เป็น 1 วันทำการ ด้วยการใช้ระบบเชื่อมข้อมูลออนไลน์กับสถาบันการเงิน และการปรับเทคโนโลยีภายใน ทำให้พิจารณาค้ำประกันสินเชื่อได้สะดวกขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเดิมที่มีประวัติทางการเงินแล้ว
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนว่ายังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องการเข้าถึงสินเชื่อ ผ่านระบบธนาคาร เพื่อนำไปเป็นทุนต่อยอดธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ โดยจากตัวเลขการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 5 หมวดธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบริการ 5,442 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 23 ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 2,711 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 11 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2,310 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 9 ธุรกิจเกษตรกรรม 2,163 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 9 และธุรกิจเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักร 2,020 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 8 .-สำนักข่าวไทย