กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – บสย. เดินหน้าช่วย SMEs ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้า-ลูกหนี้ และ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ผ่าน 3 มาตรการเร่งด่วน “พักชำระค่าธรรมเนียม-ค่างวด” พร้อมอัดฉีดโครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก “SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind” มุ่งลดภาระทางการเงิน เสริมสภาพคล่อง ช่วย SMEs พลิกฟื้นกิจการหลังน้ำท่วม
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในวงกว้างในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชาชน และกิจการร้านค้า ผู้ประกอบการ เป็นจำนวนมาก บสย. เดินหน้าให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ส่งมอบถุงยังชีพ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงออกมาตรการเร่งด่วน และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกๆ กลุ่ม ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤต และประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ (สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประสบอุทกภัย และมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัด ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน สำหรับ SMEs ลูกค้า บสย. ที่จะครบกำหนดชำระ ระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2567
2.มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. พักชำระค่างวด 6 เดือน สำหรับ SMEs ลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ในระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ ระยะเวลารับคำขอตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ตุลาคม 2567
3.มาตรการเสริมสภาพคล่อง โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก วงเงิน 1,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ค้ำประกันตั้งแต่ 1 หมื่น – 2 ล้านบาทต่อราย นานสูงสุด 10 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี ฟรี! ค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก พร้อมยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันตลอดโครงการ เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้กับ SMEs ผู้ประสบภัยอุทกภัย ตอบโจทย์ทั้งลูกค้า บสย. และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่ยังไม่เคยใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. ที่ต้องการขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการกับสถาบันการเงินหลังน้ำท่วม สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เติมทุน เสริมสภาพคล่องให้ SMEs กลับมาฟื้นฟูกิจการได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยเปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เมษายน 2568
นอกจากนี้ บสย. ยังได้ร่วมกับพันธมิตรสถาบันการเงินต่างๆ ค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ภายใต้โครงการ “ซอฟต์โลน GSB Boost Up” ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เห็นชอบปรับแก้เงื่อนไขให้ธนาคารออมสิน จัดสรรวงเงิน 50,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up นำมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยขยายกลุ่มครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย และอาชีพอิสระ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น
นายสิทธิกร กล่าวว่า นอกจากให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ บสย. ยังได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศเร่งสำรวจ ตรวจสอบและสื่อสารประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตลอดจนระดมทีมงานลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ส่งทีมงาน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน” ของสำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้คำแนะนำในการพลิกฟื้นธุรกิจอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้า และลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการ ได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือ ช่องทาง LINE OA TCG First: @tcgfirst และ บสย. Call Center โทร. 02-890-9999. – สำนักข่าวไทย