นนทบุรี 12 เม.ย. – สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ เผยนักท่องเที่ยวไทย-เทศพอใจแนวทางดูแลสินค้าอัญมณีไทย เดินหน้าเร่งชักชวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการ มั่นใจดันยอดขายเพิ่มนับหมื่นล้านบาท
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ กล่าวว่า หลังจากลงนามความร่วมมือโครงการ Buy With Confidence กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่จะร่วมมือกันตรวจสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับตามร้านค้าหรือแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ นั้น ปรากฎว่าจากการสอบถามนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาซื้อสินค้าเหล่านี้ต่างพอใจและมั่นใจสินค้าที่ได้เลือกซื้อกันมากขึ้น เพราะเห็นว่าอัญมณีและเครื่องประดับที่ผ่านการรับรองคุณภาพเช่นนี้ยิ่งสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติที่มองว่าจะเลือกซื้อสินค้ากลับไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานและไม่ใช่ของปลอมอย่างแน่นอน
สำหรับข้อสังเกตผู้ซื้อสินค้ามองหาสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ BWC ที่ติดหน้าร้านค้าจะมี QR Code ให้สแกน เพื่อดูรายละเอียดของร้านค้าที่ร่วมโครงการกับ GIT หลังจากนั้นให้เลือกซื้อสินค้าที่มีป้าย BWC ติดอยู่ที่มี QR Code ให้สแกน เพื่อดูรายละเอียดใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT หลังจากนั้นยังเรียกดูใบรับรองฉบับจริงจากร้านค้าตามโครงการ “ซื้อด้วยความมั่นใจ เรียกดูใบรับรอง GIT” เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าที่จำหน่ายได้อย่างมั่นใจ แต่หากในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้ หรือเห็นว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานผู้ซื้อร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1166 ของ สคบ. 1155 ตำรวจท่องเที่ยว และ 1569 กรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของสถาบันที่จะให้การช่วยเหลือผู้ซื้ออย่างเต็มที่ โดยสถาบันฯ มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จึงมั่นใจว่าสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ BWC จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลตรงตามใบรับรองของ GIT
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 3 รองจาก รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ตามลำดับ สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยยอดส่งออกปีที่ผ่านมาเกือบ 500,000 ล้านบาท ซึ่งรวมทองคำด้วย แต่หากไม่รวมทองคำกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกกว่า 240,000 ล้านบาท โดยปี 2561 คาดว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะส่งออกเติบโตกว่าร้อยละ 8-10 หรือมีมูลค่ากว่า 260,000-265,000 ล้านบาท ขณะที่มีมูลค่าการซื้อขายในประเทศเป็นเงิน 533,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ของจีดีพี หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 35.38 ล้านคน ดังนั้น โครงการนี้นอกจากสร้างความมั่นใจต่อสินค้าไทยแล้วยังจะก่อให้เกิดรายได้จากการซื้อสินค้าประเภท Cash and Carry รวมถึงเพิ่มยอดขายในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของรัฐฯ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงเชื่อมั่นได้ว่าสินค้าทุกชิ้นที่ได้รับใบรับรองจาก GIT เป็นสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามที่ระบุไว้ในใบรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และได้คัดเลือกร้านค้าและบริษัทที่ประกอบกิจการอัญมณีเครื่องประดับ และร้านค้าทอง ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการนี้แล้วเกือบ 140 ราย และมีร้านค้าได้แสดงความสนใจเพิ่มอีกหลายราย โดยตั้งเป้าหมายชักชวนให้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 500 รายภายในสิ้นปีนี้ทั้งในกรุงเทพฯ จันทบุรี และเมืองท่องเที่ยวในอีกหลายแห่งทั่วประเทศ พร้อมกันนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ หากยังไม่มั่นใจหรือมีข้อสงสัยสามารถแสดงความคิดเห็นและขอรายละเอียดได้ที่ทาง http://bwc.git.or.th ต่อไป. – สำนักข่าวไทย