นนทบุรี 8 ก.ค. – ผอ.สถาบันอัญมณีฯ เตือนทองคำยัดไส้ระบาดตามร้านออนไลน์ ชี้มิจฉาชีพฉวยจังหวะหลอกขายช่วงราคาพุ่ง
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตลาดทองคำในต่างประเทศประสบปัญหาทองคำยัดไส้ หรือ ทองคำแท่งปลอม โดยมีการนำทองคำมาสอดไส้โลหะอื่น ๆ เช่น ทองแดง หรือตะกั่ว เพื่อหลอกขายเป็นทองคำบริสุทธิ์ เพราะปัจจุบันราคาทองคำพุ่งทะยานสูงขึ้นตลอดเวลา โดยทำสถิติสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี ทำให้มีการฉวยโอกาสนำทองคำปลอมมาหลอกขายในรูปแบบต่าง ๆ จนส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยมีการตรวจสอบพบว่ามีร้านค้าออนไลน์ หรือพวกมิจฉาชีพฉวยโอกาสในช่วงราคาทองคำสูงขึ้นทำการหลอกขายทองคำยัดไส้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทองรูปพรรณ หรือทองคำแท่ง เพราะปัจจุบันประชาชนมีความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ทั้งการซื้อเก็บเพื่อสะสมเป็นทรัพย์สิน การซื้อใช้เพื่อแสดงฐานะ การซื้อเก็บไว้เป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานในอนาคต หรือการซื้อเพื่อเก็งกำไร ทำให้มีคนฉวยโอกาสเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจสอบทองคำปลอมหากดูด้วยตาปกติไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะใช้ทองคำจริงมาหุ้ม ขนาดและน้ำหนัก จะเท่ากับทองคำแท้ แต่ไส้ในจะเลือกวัตถุดิบที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกับทองคำมาทำ หรือหากเป็นร้านขายทองคำจะใช้การตะไบเข้าไปในเนื้อทองคำ เพื่อเช็กดูว่ามีการสอดไส้หรือไม่ แต่หากหุ้มหนา ๆ การตะไบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ขอแนะนำประชาชนก่อนที่จะเลือกซื้อทองคำ ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยให้ซื้อจากร้านค้าที่เป็นที่รู้จัก มีมาตรฐาน หรือซื้อจากร้านค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence – BWC) เพราะเป็นร้านค้าที่ได้รับการรับรองแล้วว่าขายสินค้าคุณภาพตรงตามมาตรฐาน และขอให้สังเกตตราสัญลักษณ์ Hallmark ซึ่งเป็นตราประทับที่บอกมาตรฐานความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง และหากต้องการตรวจสอบเชิงลึก ก็ให้นำไปตรวจสอบหาค่าความบริสุทธิ์ของโลหะได้ที่ห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ หรือจะมาตรวจสอบที่จีไอทีก็ได้ เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน โดยสามารถตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอมด้วยคลื่นอัลตราโซนิคที่ไม่ทำลายชิ้นงาน แต่หากไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก เครื่องมืออาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันฯ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า (GIT Standard) โดยการใช้มาตรฐาน ISO ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับให้มีมาตรฐานสากล ทำให้การตรวจสอบเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศและจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และความเชื่อถือสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย