กรุงเทพฯ 29 มี.ค. – การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 46.40 แล้ว แต่จากกรณีที่อดีตนักการเมืองออกมาแถลงว่า การขอเพิ่มงบประมาณระบบไอซีทีในการก่อสร้างมีพฤติกรรมที่ส่อทุจริต ทำให้เกิดข้อสงสัยในสังคม
2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือขออนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติมจากกรอบวงเงินเดิม รวมวงเงินกว่า 8,600 ล้านบาท เพื่อเตรียมขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จนกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทุจริตอีกครั้ง ซึ่งทีมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและผู้รับเหมาก่อสร้าง ชี้แจงว่า งบประมาณ 8,600 ล้านบาทนี้ แบ่งออกเป็น ส่วนงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6,400 ล้านบาท งานสาธารณูปโภคสาธารณูปการ 1,400 ล้านบาท งานจ้างที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง 220 ล้านบาท และขออนุมัติเพิ่มวงเงินและขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงิน 512 ล้านบาท
เหตุผลของการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ เนื่องจากในปี 2554 ผู้ออกแบบบริษัทแรก ประเมินว่า ราคาก่อสร้างทั้งหมดสูงกว่างบประมาณที่ได้รับ จึงต้องแยกงานดังกล่าวจากสัญญาหลัก ซึ่งในขณะนั้นประเมินไว้ว่า ระบบงานที่แยกออกมา ต้องใช้งบประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างต้องทันสมัย จึงได้ว่าจ้างผู้ออกแบบบริษัทใหม่ที่ออกแบบตามขอบเขตงาน ภายใต้วงเงิน 6,400 ล้านบาท
จากเดิมการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ต้องเสร็จสิ้นในปลายปี 2558 แต่ได้ขยายเวลาตามคำขอของผู้รับเหมามาแล้ว 3 ครั้ง รวม 1,482 วัน ทำให้กำหนดล่าสุดที่ต้องเสร็จ คือ วันที่ 15 ธันวาคม 2562 แต่เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องส่งมอบพื้นที่รัฐสภาเดิมให้กับสำนักพระราชวัง จึงมีแผนเร่งรัดก่อสร้างห้องประชุม ส.ว. 300 ที่นั่ง ให้เสร็จในสิ้นปีนี้ ส่วนห้องประชุม ส.ส. 800 ที่นั่ง เสร็จในเดือนมีนาคม 2562 ส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นตามสัญญา ซึ่งผู้รับเหมายืนยันว่า ทุกครั้งที่ขอขยายเวลา ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายทุกครั้ง จึงเตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสภากว่า 1,600 ล้านบาท
แม้ประธาน สนช. เคยยืนยันว่า สิ้นปีนี้จะต้องย้ายการทำงานไปที่รัฐสภาแห่งใหม่ให้ได้ แต่ทางผู้รับเหมาก็ยังกังวลว่า ระบบไอซีที ระบบสาธารณูปโภค จะติดตั้งได้ทันหรือไม่ โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า เพราะหากดำเนินการไม่ทัน จะต้องติดตั้งระบบไฟชั่วคราวที่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกกว่า 30 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ