วปอ. 28 มี.ค.- คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเตรียมส่งรายงานสรุปผลปฏิรูปต่อนายกรัฐมนตรี พรุ่งนี้ หลังใช้เวลาพิจารณากว่า 9 เดือน กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ สรรหาจากฝ่ายพลเรือนเป็นหลัก พนักงานสอบสวนต้องมีอิสระในการทำหน้าที่รวบรวมหลักฐาน และมีหลักประกันในความเจริญก้าวหน้า เพิ่มค่าตอบแทนให้ตำรวจ และเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานงานนิติวิทยาศาสตร์
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการฯ นัดสุดท้าย ว่า การทำงานของคณะกรรมการฯที่ผ่านมา ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาโดยตลอด เพื่อนำผลมาสู่สาธารณชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การพิจารณาแบ่งกลุ่มงาน 3 กลุ่ม คือ อำนาจหน้าที่ การสืบสวนสอบสวน และงานบริหารงานบุคคล ที่เกี่ยวข้องการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งได้ส่งผลงานไปตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องหลักคือเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ในส่วนกลุ่มงานด้านภารกิจหน้าที่และอำนาจ กำหนดให้กระจายอำนาจแบบบูรณาการ ซึ่งเชื่อมโยงกับการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงมีการกระจายอำนาจเรื่องของงบประมาณและการปรับโอนภารกิจให้เหมาะสม เช่น หากเป็นงานโดยตรงของหน่วยงานนั้น ๆ ก็ให้หน่วยงานนั้นๆรับผิดชอบไป แต่หากเป็นความรับผิดชอบก่ำกึ่งระหว่างตำรวจและหน่วยงานนั้นๆ ก็จะให้ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ
ประธานปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ จะไม่ใช่ตำรวจเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นฝ่ายพลเรือนที่ได้รับการสรรหามาอย่างเหมาะสม เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำของตำรวจ และคณะกรรมการฯสามารถเสนอให้หน่วยงานลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ๆ ได้ ย้ำว่า จะเป็นคณะกรรมการฯ ที่มีความเป็นกลาง มีวุฒิภาวะและมีอำนาจ เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้
จากนั้น นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนในคดีอาญา ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวถึงผลสรุปเรื่องงานสืบสวนสอบสวนว่า การพิจารณาที่ผ่านมายึดตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายประกอบการพิจารณาอย่างละเอียด โดยเรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งต้องแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจอิสระในการทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมาตลอดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวน
ดังนั้น ในรายงานของคณะกรรมการฯ จึงกำหนดว่า ต้องมีหลักประกันในความเจริญก้าวหน้าในการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน โดยปรับปรุงระบบการเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ ให้อยู่ในสัดส่วนของตนเอง ไม่ต้องไปแย่งของพนักงานสอบสวนสายป้องกันและปราบปราม ซึ่งข้อดีคือ จะทำให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นมืออาชีพ เพราะเติบโตในสายงานหลัก ไม่ย้ายงานไปมา หรือไม่มีใครมาแทรกแซงการทำงานได้ เชื่อมั่นว่า เมื่อใช้บังคับระบบใหม่แล้ว พนักงานสอบสวนน่าจะพอใจที่จะมีหลักประกันและมีความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่
นายธานิศ กล่าวว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ให้ทัดเทียมนานาประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดมากมาย จึงไม่สามารถทำได้ทันทีได้ เนื่องจากสิ่งที่ตนได้รับการร้องขอมากที่สุดคือ การเก็บวัตถุพยานและการสร้างความมั่นใจว่าพนักงานสอบสวนที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุจะบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยเจตนาหรือโดยไม่เจตนาหรือไม่ เพราะอาจทำให้วัตถุพยานที่เก็บได้เกิดความผิดพลาด นำไปสู่ความไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในคดีสำคัญใหญ่ ๆ ควรมีนักนิติวิทยาศาสตร์ร่วมไปสถานที่เกิดเหตุด้วย และพนักงานสอบสวนต้องได้รับการอบรมเรื่องการเก็บวัตถุพยาน มีระบบการลงชื่อเพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนวัตถุพยาน สำหรับประเด็นเรื่องค่าตอบแทนของตำรวจนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้พิจารณาด้วยอารมณ์และความรู้สึก แต่นำงานวิจัยมานำเสนอเพื่อเปรียบเทียบกับตำรวจทั่วโลก
“เราคาดหวังอะไรจากตำรวจมากมาย แต่เราให้เขาเพียงพอหรือไม่ ให้เขาเหมือนกับตำรวจสากลหรือไม่ ก่อนหน้านี้ ที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ผมไม่เคยมายุ่งเกี่ยว แต่เมื่อมาเป็นคณะกรรมการฯ จึงพบว่า ทำไมตำรวจต้องใช้เงินตัวเองเพื่อเติมน้ำมันเอง และทำไมตำรวจต้องซื้ออาวุธปืนเองในการปฏิบัติภารกิจ” นายธานิศ กล่าว
ด้านพล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็น ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า ก่อนจะมีการแก้กฎหมาย คณะอนุกรรมการฯได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แล้วนำมาสรุปประมวลผลเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อให้คณะกรรมการฯ รับทราบความต้องการการปฏิรูปตำรวจของประชาชน เตรียมนำกฎหมาย 4 ฉบับเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ แก้ไขเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายและค่าตอบแทน ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ 28 ฉบับ รวมทั้ง กฎหมาย ป.วิอาญา ที่ให้พนักงานสอบสวนใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจดีเอ็นเอ คณะกรรมการฯ ได้ทำรายงานผล 700 หน้าเสนอต่อสาธารชนด้วย
นายศุภชัย ยาวะประภาษ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า คณะกรรมการฯมีข้อเสนอว่า ให้ยกระดับกองบังคับการสำนักงานยุทธศาสตร์ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกองบัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ไม่เช่นนั้น หลายเรื่องที่คิดกันมาจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้มีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ หรือ CPO ขณะที่บางเรื่องสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ก็ต้องรับไปขับเคลื่อนต่อด้วยเช่นกัน
พลเอกบุญสร้าง กล่าวว่า การสร้างชาติต้องใช้เวลา การวาดตำรวจใหม่จากแผ่นกระดาษเปล่าง่ายกว่าการวาดรูปบนกระดาษที่ไม่ใช่กระดาษเปล่า ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาเพื่อจัดระบบให้เอื้ออำนายให้มากที่สุด
“กว่าจะทำกันมาก็ 9 เดือน เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แล้วคณะรัฐมนตรีจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรี แล้วส่งไปยัง สนช. ดังนั้น ก็คงจะอีกหลายเดือนก่อนกฎหมายจะออก และเมื่อกฎหมายออกไปแล้ว ก็จะต้องมีอนุบัญญัติ กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าหน่วยงานต่าง ๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติ อาจจะหลายเดือน เป็นปี หรือปีกว่า ๆ หลังจากเข้าสู่ระบบการปฏิบัติแล้ว จะปฏิบัติได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพขององค์กรนั้น ๆ และก็ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของบุคลาการที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ ถึงแม้จะใช้เวลาหน่อยแต่จะดีขึ้นทุกปี เรามีความหวังและเราจะรู้สึกดีขึ้น เหมือนเรือที่วิ่งใกล้เข้าสู่จุดหมายทุกที จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับหลายอย่าง รวมทั้งสื่อมวลชนและประชาชนที่จะเอื้อข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ประชาชนก็ต้องพยายามทำตามกฎหมาย เป็นตำรวจอยู่ในตัวเองด้วย จะไกลแค่ไหนอยู่ที่เราจะก้าวเร็วหรือก้าวช้า” พล.อ.บุญสร้าง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพล.อ.บุญสร้างได้ลงนามในผลรายงานสรุปการปฏิรูปตำรวจเสนอให้นายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (29 มี.ค.) แล้ว.- สำนักข่าวไทย