ทำเนียบฯ 27 มี.ค. – ครม.อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร ดึงเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP คาดผลตอบแทนลงทุน 700,000 ล้านบาท เขียน TOR เอกชนผู้ชนะประมูลต้องอุ้มผลขาดทุนแอร์พอร์ตลิ้งค์ กำหนดค่าโดยสาร เส้นทางมักกะสัน-พัทยา 270 บาท และเส้นทางมักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าววว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการ มีอำนาจในการร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ชนะการประมูล โดยภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธา การพัฒนาพื้นที่ค่าบริการโดยสาร ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมถึงการบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร บริหารจัดการเดินรถรวมถึงจัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ เพื่อลงทุนแบบ PPP net cost
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติกรอบวงเงินร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในวงเงินไม่เกิน 119,000 ล้านบาท โดยจะทยอยจ่ายให้กับภาคเอกชนเป็นรายปีไม่ต่ำกว่า 10 ปี และเห็นชอบให้พื้นที่เดินรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่สนามบินดอนเมืองผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพิ่ม และควบรวมสนามบินแอร์พอร์ตลิงค์ให้อยู่ภายใต้โครงการดังกล่าวของรัฐบาล เป็นผู้รับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ตลิ้ง วงเงิน 22,558 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินรถจากอู่ตะเภาถึงกรุงเทพมหานคร ภายใน 45 นาที จากผลการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนการลงทุนทั้งโครงการรวมประมาณ 700,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 50 ปีแรก 400,000 ล้านบาท และ 50 ปีต่อไปอีก 300,000 ล้านบาท
สำหรับผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นของสนามบินอู่ตะเภาไปจนถึงการลดใช้น้ำมัน ลดระยะเวลาการเดินทาง และลดมลพิษจากการใช้รถยนต์ รวมทั้งมีผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ตลอดเส้นทาง รวมถึงความเจริญที่จะเกิดขึ้นโดยรอบการเดินรถไฟ อาทิ การจ้างงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ปัญหาการเดินรถสถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิ้ง ให้มีความถี่มากขึ้นทุก ๆ 10 นาทีต่อขบวน ซึ่งอัตราค่าโดยสารกำหนดจากสถานีมักกะสัน-พัทยา 270 บาท และเส้นทางมักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท โดยในระหว่างนี้จะต้องจัดทำร่าง TOR สรรหาผู้ประมูลให้ได้ตัวเลขงบประมาณที่แน่นอน และได้กำหนด TOR สำหรับเอกชนผู้ชนะการประมูลต้องรับภาระหนี้ผลขาดทุนของแอร์พอร์ตลิ้งค์เข้าไปบริหารจัดการดูแลด้วย พร้อมทั้งรัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของ รฟท.กว่า 22,558 ล้านบาท และเพิ่มพื้นที่ EEC ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งผ่าน ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และไปถึงอู่ตะเภา และโครงการนี้จะรวมการพัฒนาที่ดินมักกะสัน ศรีราชา และการนำรถมาวิ่งให้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์เพิ่มก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย