กทม. 21 มี.ค.-อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แนะคัฟเวอร์เพลง เผยแพร่ในที่สาธารณะ ควรขออนุญาตต้นสังกัด ส่วนการเผยแพร่วรรณกรรม เช่น เรื่องบุพเพสันนิวาส ทำได้แต่ต้องไม่เกิน 10% หรือ 1,000 คำ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา หรือรายงานข่าว
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายเผยแพร่ความรู้กฎหมายเพื่อประชาชน หัวข้อ “กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับสื่อมวลชน” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากมีประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับเพลงและวรรณกรรม อาจารย์ ดร.สิพิม วิวัฒนวัฒนา และ รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญหา เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่มาจากความคิดของมนุษย์ เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งผู้สร้างสามารถนำสิ่งที่ตนเองคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ได้เพียงผู้เดียว โดยทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะชน
สำหรับกระแสข่าวที่มีศิลปินนำเพลงไปร้องหรือไปเผยแพร่ในที่สาธารณะที่โด่งดังบนโลกออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และฉบับที่ พ.ศ.2538 ที่กำหนดให้ดนตรีเป็นสิทธิโดยอัตโนมัติของเจ้าของผลงาน ซึ่งคุ้มครองตลอดชีวิต และจะหมดอายุการคุ้มครองหลังจากเจ้าของผลงานเสียชีวิตแล้ว 50 ปี ส่วนกรณีการคัฟเวอร์บทเพลงของศิลปิน บนเว็บไซต์ยูทูบ ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์บทเพลงนั้นจะฟ้องร้อง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทนั้นๆ หรือไม่ แต่สิ่งที่ถูกต้องผู้ที่จะนำเพลงมาคัฟเวอร์ควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน
ส่วนประเด็นดราม่าที่มีการตั้งข้อสงสัยบนโลกออนไลน์ขณะนี้ คือกรณีเพลงของศิลปินขวัญใจวัยรุ่นรายหนึ่งไปคล้ายคลึงกับเพลงวงดังของต่างประเทศ อาจารย์ ดร.สิพิม ให้ความเห็นว่า ถ้าทางต้นสังกัดจะดำเนินการฟ้องร้องก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นแนวปฏิบัติเดียวกับลิขสิทธิ์ในไทย
ด้าน รศ.อรพรรณ กล่าวถึงกรณี วรรณกรรมชื่อดัง เรื่องบุพเพสันนิวาส ที่มีการนำเนื้อเรื่องทั้งหมดมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรม เนื่องจากเป็นการนำมาทำซ้ำ และเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประพันธ์ ทั้งนี้การนำวรรณกรรมมาเผยแพร่สามารถทำได้ ในกรณีเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา การนำเสนอข่าว แต่ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 10% หรือ 1,000 คำ และต้องไม่ใช่หัวใจสำคัญของเรื่อง ส่วนการนำภาพจากในละครมาใช้ในการรณรงค์ เช่น ชวนแต่งชุดไทย สามารถทำได้ แต่ทางที่ดีควรแต่งกายเลียนแบบและถ่ายเองจะดีกว่า
ทั้งนี้ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ และสร้างสมดุลระหว่างการตอบแทนผู้สร้างสรรค์และประโยชน์สาธารณะ โดยการนำมาใช้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่จะไม่กระทบต่อผลประโยชน์ต่อผู้สร้างสรรค์ ดังที่อาจารย์กล่าวว่า “เอาใจเค้า มาใส่ใจเรา”.-สำนักข่าวไทย