ทำเนียบ 15 มี.ค.-รัฐบาลแถลงความคืบหน้าการดำเนินงานปฏิรูปด้านการเมืองและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มุ่งสร้างมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีและให้ความสำคัญกับภาคประชาชน เสริมสร้างการมีส่วนร่วมรอบด้าน
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง พร้อมด้วยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และนายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “การเมืองสร้างสรรค์ พลังงานมั่นคง ดำรงความสุจริต”
นายพรชัย กล่าวว่า พลังงานมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านพลังงาน 10 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยต่อจีดีพีสูงร้อยละ 16 มีการลงทุนแต่ละปีกว่า 500,000 ล้านบาทแต่ปัจจุบันประเทศยังมีความเสี่ยงในการจัดหาพลังงาน จึงต้องมีการปฎิรูปและจัดทำแผนด้านพลังงานและการนำเข้าพลังงานทดแทนต่างๆ ที่จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการในอนาคต
โดยนายเอนก กล่าวว่าการปฏิรูปด้านการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการจัดทำยุทธศาสตร์ ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้ รักสามัคคีของสังคมไทย, การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม, การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการสร้างรัฐธรรมาธิปไตย
ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองได้จัดทำแผนเสร็จเรียบร้อย และ ครม.ได้เห็นชอบแผนดังกล่าวแล้ว โดยรัฐบาลจากนี้จะต้องผูกพันกับการปฏิรูปประเทศ และขอให้ประชาชนให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
ขณะที่นายปานเทพ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านกฎหมายและบุคคลากร รวมไปถึงมุ่งเน้นการทำแผนปฏิรูปให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและนโยบายของรัฐบาล ที่เน้น การป้องกันเฝ้าระวัง และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ สร้างแรงขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศอย่างน้อยจังหวัดละ 5 เครือข่าย โดยคาดหวังว่าดัชดีทุจริตคอรัปชั่นต้องดีขึ้นจากเดิมภายใน 20 ปี
ด้านการป้องปราม มุ่งเน้นสร้าง กลไกแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงให้หน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รวมไปถึงการทำงานที่ไม่จำเป็นรวมไปถึงจัดทำกฎหมายที่มีความสำคัญให้เกิดการใช้กฎหมายที่มีคุณภาพ, ด้านการปรามปรามโดยให้ความสำคัญกับการสืบสวนคดีต่างๆ ให้รวดเร็วและมีกรอบเวลาที่ชัดเจนมากขึ้น เพิ่มโทษการรับสินบนทั้งผู้ให้และผู้รับ สร้างความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งด้านวินัยและอาญา, ด้านการบริหารจัดการโดยขณะนี้เร่งปรับปรุงศูยน์ดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับสู่สากลเพิ่มบุคคลากรให้เกิดความมีเสถียรภาพในการปฏิรูปประเทศ
พร้อมมุ่งเน้นการสนับสนุนและสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับสังคม โดยรัฐบาลต้องเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังด้วย.-สำนักข่าวไทย