ม.เกษตรฯ14 มี.ค.- สธ.-เกษตร-มหาดไทย หารือแก้ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ย้ำสถานการณ์ไม่รุนแรง พบผู้เสียชีวิต 4 คน ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังยังมี 37 จังหวัด พร้อมนำกฎหมายการควบคุมและปล่อยสัตว์มานำร่องบังคับใช้แก้ปัญหา
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ว่าจากข้อมูลและสถานการณ์ล่าสุดของโรคพิษสุนัขบ้าในคน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน โดยรายล่าสุดนี้เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งข้อมูลของการติดเชื้อในสัตว์ หรือเสียชีวิตในคนผันแปรตาม การสัมผัสสัตว์ หรือการถูกกัด ดังนั้น หากถูกสุนัข แมว ข่วน กัด เลียบาดแผล ห้ามไม่แน่ใจ ให้รีบมาพบแพทย์และรับวัคซีนทันที
นายสัตวแพทย์อภัย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในสัตว์มีการประกาศเป็นพื้นที่ระบาดรวม 37 จังหวัด แต่ไม่ใช่ทั้งจังหวัดที่มีการระบาดของโรค พบเพียงบางพื้นที่และกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการ แพร่กระจายของโรคในรอบ รัศมี 5 กิโลเมตร ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนสุนัขและแมว รวม 10 ล้านตัวและมีการสั่งซื้อวัคซีนเพื่อมาฉีดในสัตว์ไว้ 10.2 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าเพียงพอ โดย1 โดส ฉีดในสัตว์ได้ 1 ตัว โดยกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนในสัตว์ต่อเนื่องไปจนถึง สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยมีการอบรมเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเชี่ยวชาญในการฉีด
นายสัตวแพทย์อภัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการในสัตว์เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีการทำ3 เรื่อง 1.การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค 2.เร่งทำหมัน เพื่อป้องกันการเพิ่มประชากรในสัตว์ และ3.จัดสถานที่รับเลี้ยงสัตว์
ส่วนที่เป็นคำถามในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการจัดกับซากสัตว์ ที่ไร้เจ้าของ อย่างไร ต้องทำความเข้าใจว่า หากไม่แต่แน่ใจ หรือสงสัยว่า สัตว์ตัวนั้น อาจตายจากโรคพาสุนัขบ้า ไม่ควรจับหรือสัมผัสสัตว์อย่างเด็ดขาด ควรเร่งแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์จังหวัด หรือ ท้องถิ่นเพื่อมาดำเนินการ ส่วนในพื้นที่ของ กทม. ให้แจ้งสำนักงานเขต หรือ สำนักอนามัยมาจัดการ เพื่อนอกจากจัดการกับซากสัตว์อย่างถูกวิธี ยังจะได้ทำลายเชื้อพิษสุนัขบ้าด้วย ไม่ควรใช้มือสัมผัส ให้ใช้มาตรการเดียวกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก พร้อมกันนี้จะเร่ง จัดการทำความเข้าใจกับท้องถิ่น นำร่องใช้กฎหมายควบคุมและปล่อยสัตว์มาใช้ด้วย
นายธนา กล่าวว่า สำหรับปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมและปล่อยสัตว์เป็น การออกข้อบัญญัติ อาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ซึ่งมีการออกข้อบัญญัติ และบังคับใช้แล้ว ประมาณ ร้อยละ 30 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าสามารถใช้ได้ ทั้งเรื่องของการห้ามปล่อยสัตว์ออกนอกบ้าน หรือในพื้นที่ 100 ตารางวา สามารถเลี้ยงสัตว์ได้กี่ตัว การบังคับให้เจ้าของสัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามิเช่นนั้นจะมีความผิด .-สำนักข่าวไทย