กทม.7 มี.ค.-ILO เผยผลวิจัยพบแม้การบังคับใช้กฏหมายของไทย ในภาคประมงดีขึ้น แต่ยังพบการละเมิดสิทธิ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงานเกิน 14 ชั่วโมง หญิงได้ค่าจ้างน้อยกว่าชาย ถูกยึดเอกสาร ด้านปลัดฯ แรงงาน พร้อมนำผลไปศึกษาแก้ปัญหาชีวิตแรงงาน
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เผยผลวิจัย โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” โดยการสอบถามแรงงานในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเลไทย 434 คนจาก 11 จังหวัด ช่วง มี.ค.-เม.ย.2560 พบการบังคับใช้กฎหมายของไทยดีขึ้น การทำร้ายร่ายกาย ใช้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีลดลง ขณะที่แรงงานกว่าร้อยละ 43 มีสัญญาจ้างเพิ่มขึ้นกว่า4 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ยังคงถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง ร้อยละ 57
โดยกว่าร้อยละ 34 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ร้อยละ 52 ของแรงงานหญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและแรงงานชาย กว่าร้อยละ 24 ถูกนายจ้างยึดค่าจ้าง และหักค่าจ้างกว่าร้อยละ 53 ทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมง ร้อยละ41และมากกว่า 14 ชั่วโมง ร้อยละ 12 แต่ได้รับค่าล่วงเวลาเพียงร้อยละ 31 ขณะที่กว่าร้อยละ 27 ไม่มีวันหยุด ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ และถูกยึดเอกสาร ร้อยละ 34 ถึงจะถูกระเมิดแต่มีเพียงร้อยละ 26เท่านั้นที่แสวงหาความช่วยเหลือ ในกลุ่มนี้ร้อยละ 13 ได้รับการแก้ปัญหา ขณะที่กว่าร้อยละ 74 ไม่เข้าถึงความช่วยเหลือ
นายเจสัน จั๊ดด์ เจ้าหน้าที่อาวุโสประสานงานโครงการ ไอแอลโอ กล่าวว่า แม้การวิจัยนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ครอบคลุมในทุกเรื่องและเป็นตัวอย่างที่ดีมากนัก เนื่องจากศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างเพียง 434 คน แต่งานวิจัยนี้จะเป็นฐานข้อมูลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกรอบกฎหมาย นโยบาย และการกำกับดูแล เสริมสร้างศักยภาพของพนักงานตรวจ ปรับปรุงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานหลักของไอแอลโอ และเพิ่มการเข้าถึงบริการความช่วยเหลือ ซึ่งงานวิจัยมีข้อเสนอแนะ คือรัฐต้องเน้นบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังมากขึ้น ดูแลและบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้น เสริมสร้างทักษะความรู้ และสวัสดิการของแรงงาน
ขณะที่นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รายงานนี้ถือเป็นความร่วมมือของภาคประชาสังคมที่ให้ความสำคัญกับปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งการศึกษา มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการวิเคราะห์แก้ปัญหาและติดตามการทำงาน สภาพชีวิตแรงงาน สู่การพัฒนาให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ส่งเสริมการทำงานที่มีคุณภาพ มีคุณค่า ตามกรอบของสหประชาชาติ ถึงไทยจะพบว่าแนวโน้มด้านแรงงานดีขึ้น แต่มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะความเป็นธรรมของค่าจ้าง ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว เดินหน้าติดตั้งตู้เอทีเอ็ม จ่ายเงินผ่านธนาคาร เพื่อจะได้มีหลักฐานในการจ่ายและตรวจสอบย้อนหลังได้
สำหรับประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลกรองจากเวียดนาม นอร์เวย์และจีน ปี60ในภาคประมงและแปรรูป จ้างแรงงานกว่า 6 แสนคน ในจำนวนนี้กว่า 3.02 แสนคนเป็นแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุ้มครองตามสิทธิ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ซึ่งผลการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ .-สำนักข่าวไทย