ทำเนียบฯ 16 ก.พ.-คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ แถลงแผนปฏิรูป หวังยกระดับการพัฒนาทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่แผนปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ เน้นเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างการรับรู้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และ นายรอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “ทรัพยากรมีคุณค่า กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”
โดยนายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านโครงสร้าง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหากลไกและบทบาทภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัญหากฎหมายและกฎระเบียบที่มีจำนวนมากล้าสมัย มีช่องโหว่จากการใช้ดุลพินิจ เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กติกาสากลที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
“นี่จึงเป็นเป้าหมายที่ต้องการปฏิรูป โดยสาระสำคัญของแผนปฏิรูปแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านแรก ว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับบุคคล ระดับภาคธุรกิจ และภาครัฐ ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ จากสิ่งที่ไทยมีความชำนาญในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักเพื่อต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการพัฒนาทักษะบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีนวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data analytics) รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สร้างฐานการลงทุนในกลุ่ม CLMV บังกลาเทศ และตอนเหนือของอินเดีย” นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวอีกว่า ด้านที่สอง คือ การสร้างความเท่าเทียมและเติบโตอย่างมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึง ด้วยการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ผลักดันให้เกิดผลจริง โดยจะมุ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และด้านที่สาม คือ การปรับกลไกและบทบาทภาครัฐให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาให้มีเจ้าภาพที่ชัดเจน
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคือต้องยกระดับกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและบูรณาการ (Plan-Do-Check-Act) ใน 3 มิติ โดยมิติแรก ต้องปฏิรูปหน่วยงาน นโยบาย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต้องพัฒนาระบบข้อมูลให้หลากหลายเรียกใช้ได้รวดเร็ว มิติที่สอง ปฎิรูปหน่วยงานการคลังและงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการปฎิรูประบบประกันสุขภาพ เสนอให้มีองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งภาษีอิสระเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลและขยายฐานการจัดเก็บภาษีรูปแบบต่างๆ รวมถึงปฎิรูปหน่วยบริหารสินทรัพย์ของรัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจต้องเพิ่มมูลค่าตามศักยภาพ และมิติที่สาม ปฎิรูปหน่วยงานดำเนินการและประเมินผล เช่น สถาบันด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีเพื่อยกระดับความสามารถเอสเอ็มอี
“ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นข้อเสนอที่ผู้เกี่ยวข้องได้ปูทางไว้ ทั้งนักวิชาการ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันเอื้อต่อการปฎิรูป ซึ่งรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญและสนับสนุน ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มดี การได้รับการสนับสนุนจากประชาชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการปฎิรูปประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง” นายประสาร กล่าว
ด้านนายรอยล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้การบริหารงานแบบรวมศูนย์ แต่การบริหารงานในเชิงพื้นที่แบบแนวราบก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงเน้นการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงปัญหาให้ตรงจุด เช่น ปัญหาชายฝั่ง ปัญหาน้ำ รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการปฎิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 6 เรื่อง คือ 1.ทรัพยากรทางบก 2.ทรัพยากรทางน้ำ 3.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4.ความหลากหลายทางชีวภาพ 5.สิ่งแวดล้อม และ 6.ระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเร่งรัดให้เกิดแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ แผนที่ศักยภาพแร่ มีระบบผังเมืองรวมจังหวัด ผังเส้นทางน้ำ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และระบบบริหารจัดการและกฎหมายต้องผลักดัน เพื่อจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) เป็นต้น ทั้งนี้คณะกรรมการฯ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือและการตอบรับจากประชาชนทุกภาคส่วน.-สำนักข่าวไทย