กรุงเทพฯ 8 ก.พ. – กบง.เห็นชอบออกกฎกระทรวงฯ มาตรการบังคับใช้กับอาคารประหยัดพลังงาน คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปีที่แล้วพบต่ำกว่าแผนร้อยละ 3 เหตุประสิทธิภาพการผลิตไม่เป็นไปตามคาด
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.แถลงว่าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบการออกกฎกระทรวงฯ เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูง เรียกว่า เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) ด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งจะมีการนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) 7 มีนาคมนี้ และเสนอ ครม.ต่อไป โดยจะมีผล 120 วันหลังกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2561 มีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวมประมาณ 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 48,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะบังคับสำหรับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1. สำนักงาน 2. โรงแรม 3. โรงพยาบาล 4. ศูนย์การค้า 5. โรงมหรสพ 6. สถานบริการ 7. อาคารชุมนุมคน 8. อาคารชุด และ 9. สถานศึกษา ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุ ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อนและทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 3 ปี
สำหรับกรอบการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ปีที่ 1 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป, ปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP 2015)ใน ปี 2560 ซึ่งพบว่าการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีประมาณร้อยละ 7 ต่ำแผนที่กำหนดไว้ร้อยละ 10 เนื่องจาก PLANT FACTOR หรือประสิทธิภาพการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ 8,471 เมกะวัตต์ ขณะที่มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1,616 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ยังไม่ก่อสร้างอีก 716 เมกะวัตต์
ที่ประชุม กบง.หารือถึงกิจกรรมขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยเห็นว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ไม่จำเป็นต้องกำกับดูแลเรื่องค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ เนื่องจากมีการควบคุมอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสม และมีการแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการขนส่งน้ำมัน ด้วยวิธีการอื่น ๆ อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว รวมทั้งขณะนี้มีการกำกับดูแลธุรกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยการขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน ประกอบกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560สามารถกำกับการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อยู่แล้ว. – สำนักข่าวไทย