ศาลปกครอง 29 ม.ค. –ศาลปกครอง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี กรณียึดทรัพย์ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหายโครงการจำนำข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากกรณีขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กระทำการโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ทางราชการเกิดความเสียหาย โดยศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้ยื่นคำขอเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินหลายประการ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีบ้างไปแล้วก็ตาม แต่การจะวินิจฉัยว่า คำสั่งพิพาทจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
ส่วนกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าได้มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการยึดอายัดทรัพย์สินบางรายการไปแล้ว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายยากแก่การเยียวยาภายหลังนั้น เห็นว่า นอกจากระทรวงการคลังจะมีศักยภาพในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฎด้วยว่าในส่วนข้อมูลในบัญชีเงินฝากทั้ง 16 บัญชี ที่กรมบังคับคดีชี้แจงต่อศาลว่า ตามบัญชีรายการแสดงทรัพย์และหนี้สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี มีจำนวนรวม 24,908,420.28 บาท เปรียบเทียบการอายัดเงินฝากในธนาคารของกรมบังคับคดีจำนวน 1,969,884.31 บาท ลดลงจากเดิมจำนวน 22,938,535.97บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.09 โดยศาลได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบแล้ว แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ชี้แจงหรือโต้แย้งข้อมูลดังกล่าว กรณีนี้จึงน่าเชื่อได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินดังกล่าวจริง ประกอบกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ถูกดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครอง ไม่ได้อุทธรณ์การบังคับทางปกครองตามมาตรา 62 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 แต่อย่างใด ข้อเท็จริงที่ปรากฎจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามคำสั่งที่พิพาทจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงต้องถือว่าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ อย่างไรก็ตามคำสั่งยกขอทุเลาฯดังกล่าว เป็นมติเสียงข้างมากขององค์คณะ 5 เสียงจากทั้ง หมด 7 เสียง
ด้านนายนพดล หลาวทอง ทนายความรับผิดชอบคดีปกครองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีเรื่องการอายัดทรัพย์สินแล้ว ในทางปฏิบัติคงต้องติดตามต่อไป การบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์นั้นทางหน่วยงานรัฐจะปฏิบัติอย่างไร เพราะเท่ากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือกรมบังคับคดีมีอำนาจตามคำสั่งที่ได้รับไว้ใน มาตรา 44 แต่หากพบว่าการบังคับอายัดทรัพย์ดำเนินการจากกรอบคำสั่ง และกฎหมายที่ใช้อยู่เกี่ยวกับการบังคับคดีก็ต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อสู้โต้แย้งใหม่ โดยขณะนี้ทรัพย์นั้นถูกอายัดไว้ไม่ให้เคลื่อนย้ายถ่ายเท แต่ยังไม่ได้ยึดขายทอดตลาด ซึ่งทรัพย์สินที่เคยยื่นคำร้องขอให้ระงับไว้ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 คือ บ้านพัก และบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี ซึ่งหลังจากนี้จะต่อสู้ในเนื้อหาในคดีหลัก ว่าการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบอย่างไร.-สำนักข่าวไทย