ก.ศึกษาฯ 24 ม.ค.-รมช.ศึกษาฯ ชี้อย่าเพิ่งตีความคำสั่งนายกรัฐมนตรี เเง่ลบ หลังสั่งควบคุม-ไม่ให้งบสาขาวิชาที่ตลาดไม่ต้องการ ยอมรับที่ผ่านมาไทยขาดระบบฐานข้อมูลระบุสาขาที่ต้องการ ซึ่ง ศธ.ควรต้องทำ
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเผยเเพร่เอกสารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ระบุคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถึงกรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา โดยให้ควบคุมงบประมาณในสาขาที่ไม่มีงานทำเเละไม่ตรงความต้องการ โดยให้ลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้งบในสาขาดังกล่าว จนเกิดกระเเสวิจารณ์ในเเวดวงการศึกษา ว่า อย่าเพิ่งตีความคำพูดของนายกรัฐมนตรีในเชิงลบหรือสุดโต่งเกินไป เพราะเป็นการพูดถึงภาพรวมที่จะต้องเร่งผลิตบัณฑิตเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศก่อน หลังพบว่ามีบัณฑิตที่เรียนจบจากคณะที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดเเรงงานเเละไม่ได้ผลิตตามยุทธศาสตร์ของประเทศตกงานจำนวนมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับสาขาที่จำเป็นก่อน อาทิ วิทยาศาตร์เทคโนโลยี เพราะกลุ่มนี้สามารถยกระดับ GDP ของประเทศได้เเละเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะสนับสนุนเเค่สาขาที่เป็นที่ต้องการตลาดอย่างเดียว
นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ยอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดการทำฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศที่ดี ที่จะสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้ไทยต้องการแรงงานประเภทใด สาขาวิชาใดกำลังขาดแคลน รวมถึงอาชีพในอนาคตที่จะหาย ไป หรือเป็นที่ต้องการ ทำให้ตอนนี้เกิดปัญหาว่าบางสาขาไม่มีคนเรียน บางสาขาคนเรียนจนล้น และไม่มีงานทำ ซึ่งตอนนี้ไม่มีคนทำข้อมูลเหล่านี้ แม้มีความพยายามในการผลักดันมาโดยตลอดและไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแทน
ขณะที่นักวิชาการการศึกษา เช่น นายสมพงษ์ จิตระดับ เเละนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวเเสดงความคิดเห็นตรงกันว่า เเนวคิดที่ไม่สนับสนุนสาขาอื่นๆนั้น ถือเป็นการคิดที่ยึดความต้องการของตลาดเเรงงานอย่างเดียว ต้องการเห็นผลทันใจ มองประโยชน์ระยะสั้น ไม่เห็นการลงทุนระยะยาวในการพัฒนาสังคม เเต่สาขาวิชาอย่างมนุษย์ศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดี อาจดูไม่มีมูลค่าทันทีเชิงการตลาดแต่เวลาสังคมต้องการการถกเถียงทางความคิด ก็พบว่าเพราะตรรกะบิดเบี้ยว ละเลยไม่ร่ำเรียนปรัชญา ไม่ฝึกตั้งคำถาม วิเคราะห์กรอบคิด การใช้เหตุผลในการถกเถียง เป็นต้น สิ่งที่รัฐต้องพิจารณาให้รอบคอบ คือมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อผลิตแรงงาน แต่หน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย คือการเป็นกลไกสร้างต้นทุนทางปัญญา ต้นทุนมนุษย์ ต้นทุนทางวัฒนธรรม ฯลฯ ถึงอย่างไรก็ต้องมีสาขาที่ถอยไม่ได้ รัฐต้องอุ้มชูไว้ ถ้าจะลดการสนับสนุนเพราะเรื่องตลาดงานก็ต้องพิจารณาดูสาขาที่เชื่อมโยงกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆไม่ใช่เหมาเข่ง และที่น่าเศร้าคือมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทุ่มเททำหน้าที่สั่งสมหรือสร้างสรรค์ปัญญาให้สังคมได้เห็นว่ามีมหาวิทยาลัยไว้เพื่ออะไรด้วย .-สำนักข่าวไทย