ทำเนียบฯ 24 เม.ย. – ครม.เห็นชอบโครงการผลิตบัณฑิตและอาชีวพันธุ์ใหม่ระยะ 5 ปี กว่าแสนคน รองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และอาชีวพันธุ์ใหม่ ระยะเวลา 5 ปี (61-65) รองรับ 10 กลุ่มอุตสหากรรมเป้าหมายในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หวังผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม 56,478 คน บุคลากรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 8,500 คน และอบรมผู้เรียนจน ปวช. ปวส. เพื่อเพิ่มพูนทักษะผ่านการปรับปรุงหลักสูตร อบรมระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี 52,899 คน รวมทั้งหมด 115,626 คน
ทั้งนี้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการอบรม ปรับหลักสูตรสำหรับอาชีวะ เพื่อจ่ายเบี้ยงเลี้ยงให้นักเรียน 60,000 บาทต่อคน ส่วนระดับปริญญาตรีจ่ายเงินอุดหนุนประมาณ 100,000 บาทต่อคน ใช้งบประมาณอุดหนุนทั้งหมด 14,138 ล้านบาท ระยะ 5 ปี เริ่มปี 2561 ใช้งบ 1,396 ล้านบาท จากนั้นปีถัดไปให้สถาบันศึกษาของรัฐเสนอของบประมาณ โดยปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และอาชีวพันธุ์ใหม่
ขณะนี้ได้คัดเลือกมหาวิทยาลัย 20 แห่ง เข้าร่วมโครงการ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แม้ว่าจะเป็นภาคเอกชนแต่ร่วมสนับสนุนนโยบายรัฐการผลิตบุคลากร จึงต้องจัดสรรเงินอุดหนุนไปด้วยเหมือนกับสถาบันการศึกษาของรัฐ ส่วนการผลิตอาชีวพันธุ์ใหม่ คัดเลือก 27 วิทยาลัยอาชีวเข้าร่วมโครงการ ในระหว่างการจัดการเรียนการสอน ต้องให้นักศึกษาได้เรียนกับสถานประกอบการของเอกชนสัดส่วนร้อยละ 50 ของเวลาเรียน เตรียมเริ่มโครงการช่วงเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้บุคลากรคุณภาพสูงทั้งด้านช่าง ระบบราง ช่างยนต์เครื่องบิน เทคโนโลยี ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมานักศึกษาเรียนด้านวิทยาศาสตร์สัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 เรียนด้านสังคม จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เรียนด้านอาชีวะและวิทยาศาสตร์เพิ่ม เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน และยังเตรียมเจรจากับสำนักการ ก.พ.กำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำของด้านวิชาชีพให้สูงเท่ากับระดับปริญญาตรีและมีโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะอุตสาหกรรมในเขตอีอีซีประกันรายได้ขั้นต่ำมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน.-สำนักข่าวไทย