24 ม.ค. – กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง ปีนี้มีน้ำเก็บกักมากที่สุดในรอบ 5 ปี สามารถจัดสรรให้ชาวนาทำนาปรังได้ตามแผนของคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ
ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาทยอยปลูกข้าวนาปรัง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนหลักมีน้อย ราชการขอความร่วมมือทำนาปีละครั้งเดียว แต่ปีนี้ปริมาณน้ำเก็บกักมากถึงร้อยละ 79 ของความจุอ่าง 4 เขื่อนหลักทั้งหมด มากที่สุดใน 5 ปีที่ผ่านมา
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำต้นทุนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งถึงปลายเดือนเมษายน 7,700 ล้านลูกบาศก์เมตร และจัดสรรสำหรับการเพาะปลูกต้นฤดูฝน เพื่อเตรียมแปลงหรือเกิดฝนทิ้งช่วง 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำที่สำรองไว้สำหรับการทำเกษตรฤดูแล้งคือ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้ชาวนาจึงสามารถทำนาปรังได้ 1 รอบอย่างเพียงพอ และเมื่อถึงต้นเดือนพฤษภาคม มีน้ำส่งให้ทำนาปีได้ตามปกติ
เขื่อนเจ้าพระยาทยอยลดการระบายลงจากช่วงฤดูฝน ขณะนี้ระบายอยู่วันละ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณมากกว่าปกติของหน้าแล้ง เนื่องจากต้องให้น้ำไปเจือจางน้ำระบายออกมาจากทุ่งซึ่งเป็นน้ำที่แช่อยู่นาน เมื่อลงสู่แม่น้ำทำให้น้ำมีคุณภาพต่ำ ระบบนิเวศเสีย โดยแก้ปัญหาได้แล้ว และจะทยอยลดลงแบบขั้นบันไดให้เหลือปริมาณวันละ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติของหน้าแล้งภายในอีก 1 เดือน
ส่วนการบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาคงระดับน้ำหน้าเขื่อนไว้ที่ +15.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับที่สามารถทดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่ง ฝั่งขวา ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ส่วนฝั่งซ้าย ได้แก่ คลองชัยนาท-อยุธยาและคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะมีน้ำใช้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งอย่างเพียงพอเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย