กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – กระทรวงพลังงานแถลงด่วนร่วมผู้ว่าฯ กฟผ. -ซีอีโอ ปตท.ยืนยันไม่ลดบทบาท และให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้า การจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ให้ กฟผ.-ปตท.จับมือร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต โดยจะลงนามเอ็มโอยู 2 ก.พ.นี้ ด้าน กฟผ.เสนอกำหนดสัดส่วนทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก ส่วนสัญญาซื้อก๊าซแหล่งโมซัมบิก ปตท.รอนโยบายพีดีพี
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะลดบทบาทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ ดังนั้น ในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพี ฉบับใหม่ที่จะกำหนดทิศทางเสร็จสิ้นเดือนมีนาคมนี้ กฟผ.และ ปตท.จะมีสัดส่วนทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและการจัดหาก๊าซธรรมชาติเท่าใด รวมทั้งให้ 2 หน่วยงานนี้ร่วมมือกันในการทำงานเพื่อความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากนอกเหนือเรื่องสัดส่วนความมั่นคงแล้ว ก็เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมในระบบที่มีการแข่งขัน โดย ปตท.-กฟผ.สามารถร่วมแข่งขันได้ในพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โดยจัดให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ได้แก่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ดำเนินการโดย ปตท. และสายส่งไฟฟ้าที่ดำเนินการ โดย กฟผ.อย่างเป็นธรรม ส่วนเรื่องการบริหารงานภายในของ 2 องค์กรเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงภายใน โดยขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบให้ความสำคัญต่ออนาคตในหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน
“สัดส่วนเพื่อความมั่นคงของ กฟผ.และ ปตท.จะเป็นเท่าใด กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะทำพร้อม ๆ กับแผนพีดีพีของประเทศ โดยภาพรวมของแผนพีดีพีจะคำนึงถึงหลักความมั่นคงและค่าไฟฟ้าที่ต่ำ เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยในส่วนของก๊าซในอ่าวไทยยังมอบให้ ปตท.เป็นผู้ซื้อแต่รายเดียว เพื่อการบริหารจัดการที่มั่นคง ส่วนก๊าซแอลเอ็นจีที่จะนำเข้าในอนาคตจะกำหนดสูตรใหม่ เพื่อแยกจากราคา POOL (ราคารวมจากทุกแหล่ง ที่มาจากในประเทศ,แอลเอ็นจี และเมียนมาร์ ) หรือไม่นั้น จะมีการศึกษาต่อไป ” รมว.พลังงาน กล่าว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ว่าจ้างไพรซ์วอเตอร์เฮาส์เป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับให้พนักงาน กฟผ.ช่วยกันศึกษาแผนลดต้นทุน และการสร้างการทำงานที่รวดเร็วรับมือความเปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในอนาคตนั้น คงจะต้องคำนึงสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าแต่ละแบบ เพราะเทคโนโลยีใหม่ทำให้การสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแตกต่างจากอดีตที่เพื่อความมั่นคงเน้นเรื่องการสั่งเดินเครื่องเท่านั้น แต่ระบบใหม่เมื่อประชาชนมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นไฟฟ้าจะเข้าระบบ ก็จะต้องดูถึงทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงก็ต้องสั่งหยุดเดินเครื่องได้เช่นกัน ดังนั้น สัดส่วนที่ว่านี้ก็คงจะต้องดูถึงสัดส่วนโรงไฟฟ้าหลัก และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน สัดส่วนการสำรองไฟฟ้า เป็นต้น
“กฟผ.พร้อมปรับตัวรับการแข่งขัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาครัฐต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ กฟผ.สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อแข่งขันได้เช่นกัน โดยในความร่วมมือกับ ปตท.นั้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้จะมีการลงนามข้อตกลงร่วมกัน เพื่อการพัฒนานวัตกรรม การร่วมมือเรื่องการลงทุนทั้งสร้างโรงไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และอื่น ๆ “ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าว
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. กล่าวว่า ปตท.ไม่เคยได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้ลดบทบาทแต่อย่างใด แต่รัฐสั่งให้เพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งในส่วนของการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว (LONG TERM ) ปตท.จะได้รับการอนุมัติให้นำเข้ามากน้อยเพียงใดนั้น ก็รอดูแผนพีดีพีใหม่ โดยสัญญาระยะยาวรายใหม่ที่รอแผนพีดีพี คือ การทำสัญญาซื้อจากโครงการโมซัมบิก 2.6 ล้านตัน/ปี ส่วนสัญญาระยะสั้น (SHORT TERM ) นั้น ก็เห็นด้วยที่จะต้องเปิดการแข่งขันกัน. – สำนักข่าวไทย