กทม. 6 ม.ค.-มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเริ่มปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์ โดยพบว่าการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ซบเซา มีคนเลือกเรียนน้อยลง เพราะกลัวตกงาน บางมหาวิทยาลัยต้องยุบเลิกหลักสูตร เพราะคนไม่นิยม
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง ออกมาระบุว่า เตรียมทบทวนยุบเลิกหลักสูตรบางหลักสูตรที่มีแนวโน้มขาลง อาทิ คณะนิเทศศาสตร์ เพราะไม่เป็นที่นิยมและกลัวจบการศึกษาออกมาแล้วตกงาน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) คณะหรือสาขาวิชาที่จะเป็นที่นิยมในปี 2561 คือจบแล้วมีงานทำ มีรายได้ที่มั่งคง ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมต่างๆ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า โดยสาขาที่โดดเด่นที่สุด คือ วิศวกรรมโยธา เพราะรองรับเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน
รวมทั้ง คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ที่ยังได้รับความนิยมเช่นเดียวกับคณะนิติศาสตร์ ส่วนสาขาวิชาที่เน้นไปในด้านธุรกิจบริการ อย่างสาขาธุรกิจการบิน ยังเป็นที่ต้องการของตลาดการศึกษาในปี 2561 อยู่ ขณะที่สาขาด้านการบัญชี การเงิน รวมถึงวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยังเป็นที่นิยมเรียน เนื่องจากคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้ธุรกิจบริการด้านนี้โตขึ้นในอนาคต
ส่วนนิเทศศาสตร์ในปีนี้นั้นซบเซา เพราะเด็กๆ กลัวตกงาน อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดี ระบุว่า เตรียมทบทวนยุบเลิกหลักสูตรที่ไม่เป็นที่นิยม 33 สาขาวิชารวมทั้งนิเทศศาสตร์ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วทั้งหมด 157 แห่ง ก่อนหน้านี้เคยมีมากถึงเกือบ 200 แห่ง ทั้งที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มหาวิทยาลัยและสถาบันในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันเอกชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาด้านการทหารและตำรวจ และสถาบันอุดมศึกษานอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักข่าวไทย สำรวจข้อมูลพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการไม่ได้มาตรฐานและปิดดำเนินการไปกว่า 10 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยโยนก มหาวิทยาลัยอีสาน วิทยาลัยบัณฑิตสกลนนคร วิทยาลัยรามาอโยธยา เป็นต้น ส่วนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเดิมที่มี 3 เขต ได้แยกเป็นนิติบุคคล 3 แห่งในปี 2529 คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสถาบันการศึกษาในอนาคต จะมีการควบรวมระหว่างสถาบัน อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละจังหวัด จะควบรวมกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดนั้น จัดตั้งเป็นสถาบันใหม่ รวมไปถึงการยกวิทยฐานะเดิมขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาใหม่ รวมทั้ง 2 รูปแบบจำนวน 16 แห่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เป็นการปรับโครงการสถาบันการพลศึกษาเดิมและแยกออกเป็นวิทยาเขต ส่วนที่จะตั้งขึ้นใหม่ มี 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยนานาชาติแม่สอด จ.ตาก ด้วยเนื้อหารองรับเศรษฐกิจพิเศษ มหาวิทยาลัยพ่อหลวง หรือ มหาวิทยาลัยประจวบคีรีขันธ์ และสถาบันนครขอนแก่นของเอกชน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย