กรุงเทพฯ 3 ม.ค.- รองโฆษกอัยการสูงสุด ชี้คนถ่ายคลิปสาวกระโดดสะพานพระราม 8 อาจเข้าข่ายความผิดไม่ห้ามปรามโทษจำคุกไม่เกิน 1เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาและผลการสอบสวนของตำรวจ
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณีหญิงวัยรุ่นไลฟ์สดกระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 8 โดยให้ผู้อื่นถ่ายคลิปว่า จากคลิปเหตุการณ์จะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวอาจผิดกฎหมายได้ เป็นความผิดมีโทษถึงจำคุก คนถ่ายคลิป หรือคนที่ยืนอยู่ด้วยแล้วไม่ห้ามปราม ตามภาพถ่ายน่าจะเห็นแล้วว่าเด็กสาวมีอาการมึนเมาในคลิปมีภาพเหมือนส่งขวดเบียร์ให้เด็กสาวดื่มด้วย เมื่อปีนขึ้นราวสะพานและเปิดเพลงในทำนองผิดหวังเสียใจ ก็ควรห้ามหรือเข้าล็อคตัวไว้ไม่ให้ข้ามราวสะพานออกไปได้ซึ่งหน้าที่ตามกฏหมายต้องหยุดการกระทำไม่ให้เด็กสาวเสี่ยงชีวิต ยังกลับยืนถ่ายคลิปต่อไป
“ ซึ่ง มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ ถ้าคนถ่ายคลิป ส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดื่ม ซึ่งผู้หญิงก็ไม่แน่ใจว่าอายุเท่าไหร่ถ้าต่ำกว่า 18 ปี ก็จะมีข้อหาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ หากฝ่าฝืนมาตรา 26 นี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ม.78
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องคนตกน้ำ ถ้าท่านว่ายน้ำเป็น ว่ายน้ำเก่งแล้วไม่ช่วยก็ผิด แต่ถ้าว่ายน้ำเป็นแต่ว่ายน้ำไม่เก่งไม่ลงไปช่วยก็ไม่ผิด แต่เราหาทางช่วยด้วยวิธีอื่นได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ช่วยเท่าที่จำเป็น เช่น โยนเชือก โยนวัสดุลอยน้ำให้เกาะ
ส่วนกรณีดังกล่าวจะผิดถูกอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าคนถ่ายคลิป อยู่ในภาวะที่ช่วยได้หรือไม่ได้อย่างไร ถึงจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ชี้แจง พร้อมฝากเตือนสติให้สังคมไม่เพิกเฉยต่อการช่วยเหลือผู้อื่น อย่าปล่อยให้เหตุร้าย เหตุความรุนแรงเกิดขึ้น สังคมจะได้ปลอดภัย .-สำนักข่าวไทย