กรุงเทพฯ 28 ธ.ค. – กฟผ.จับมือภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการ Move World Together พัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กและเยาวชนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องอีก 3 ปี ตั้งเป้าเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาให้สังคมและชุมชนสุขสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กและเยาวชนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม กับกรมกิจการเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์
นายสืบพงษ์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีผลเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือต่อเนื่องระหว่าง 4 หน่วยงาน เพื่อดำเนิน “โครงการ Move World Together เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้พร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันและโลกอนาคต โดยในอีก 3 ปีนับจากนี้จะมุ่งเน้นขับเคลื่อนกิจกรรมตามหลักการทรงงานด้านการพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งสร้างกลไกต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนและสังคมมีความสุขสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ตามแนวทางแห่งศาสตร์พระราชา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดไป
ทั้งนี้ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินโครงการ Move World Together เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมลักษณะความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยสนับสนุนอย่างเต็มที่ทุกด้าน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผลลัพธ์ของโครงการเป็นที่ประจักษ์ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ และทั้ง 4 หน่วยงานภาคีความร่วมมือเห็นพ้องกันว่ารางวัลที่ได้จากการประกวดนวัตกรรม ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนในโครงการ เป็นเพียงผลพลอยได้ แต่ภารกิจหลักของโครงการ คือ การสร้างคน
“จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการ Move World Together ที่เป็นตัวแทนไปประกวดนวัตกรรมที่ไต้หวัน ในปี 2560 รู้สึกถึงศักยภาพทางความคิด ความกล้าแสดงออก ความมีจิตสาธารณะ และความเป็นผู้นำของเยาวชน แสดงให้เห็นว่า โครงการ Move World Together กำลังสร้างคนที่จะไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ กฟผ.ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง” รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าว
สำหรับโครงการ Move World Together เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่จะตอบโจทย์ของประเทศในหลากหลายมิติ เช่น การปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงศึกษาธิการ ในนามรัฐบาลไทย ให้เข้าชิงรางวัล UNESCO Japan Prize on Education for Sustainable Development 2016 มาแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาคนในแบบของโครงการ Move World Together เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย