กรุงเทพฯ 25 ธ.ค. – รมว.พลังงานตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ก่อนประชุม ครม. สัญจร ชู “บางกระทุ่มโมเดล” พอใจนำพลังงานช่วยชุมชนทำกล้วยตาก- กล้วยทอด
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ก่อนประชุม ครม. สัญจร ตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ชู “บางกระทุ่มโมเดล” ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตอาหารของเกษตรกร และเยี่ยมแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ แหล่งน้ำมันบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ กำลังผลิต 24,000 – 26,000 บาร์เรล/วัน เสริมความมั่นคงพลังงาน พร้อมตรวจเยี่ยมสถานที่ติดตั้งมาตรวัดซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จุดซื้อขายก๊าซโรงไฟฟ้าลานกระบือ
ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ส่งเสริมโครงการระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ สำหรับชุมชนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ณ กลุ่มสตรีสหกรณ์บางกะทุ่ม 2 (บางกระทุ่มโมเดล) อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งได้ดำเนินการสนับสนุน ครอบคลุมพื้นที่ 5,616 ตารางเมตร เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการอบกล้วยตาก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน จากเดิมที่ประสบปัญหาแมลงรบกวน ฝุ่นละออง การเปียกฝน การอบกล้วยด้วยโดมอบแห้ง ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยช่วยลดการสูญเสียจากการตากด้วยวิธีธรรมชาติได้ร้อยละ 5-10 ต่อปี และช่วยสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากกล้วยตากในระบบอบแห้งแสงอาทิตย์
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดี พพ. กล่าวว่า โครงการนี้ พพ.พร้อมส่งเสริมติดตั้งระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ ให้ผู้ประกอบการรัฐและเอกชน มีเงินอุดหนุนจูงใจร้อยละ 30 ของงบลงทุน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ www.solardryerdede.com
“การอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยช่วยให้การอบแห้งผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น กล้วยตาก กล้วยแผ่น ข้าวแต๋น ข้าวเกรียบ ข้าวฮางงอก พริกแห้ง เครื่องเทศ สมุนไพร เห็ด เมล็ดกาแฟ เมล็ดงา มะม่วงกวน รวมไปถึงเนื้อสัตว์และอาหารทะเล เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้รสชาติดีขึ้นแล้วยังสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้นอีกด้วย” นายประพนธ์ กล่าว
นอกจากนี้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ได่ร่วมกันดำเนินโครงการนำก๊าซธรรมชาติพลอยได้จากการผลิตน้ำมันดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอันเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างประโยชน์ต่อชุมชนตำบลหนองตูม ที่สามารถแปรรูปผลผลิตการเกษตร ได้แก่ กล้วย ฟักทอง มัน และเผือกได้ถึง 60 ตันต่อวัน จากการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในการแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่านท่อจากฐานผลิตหนองตูม-เอ มายังศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรตำบลหนองตูม ซึ่งมีโรงเรือนเพื่อใช้ทอดผลิตภัณฑ์ 4 โรง และมีเตาทอดผลิตภัณฑ์ 240 เตา สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2559 สามารถลดค่าก๊าซได้กว่า 30 ล้านบาท และยังเป็นการสร้างอาชีพเสริมรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่จนไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น จีน เกาหลี เวียดนาม และ ทวีปยุโรป.-สำนักข่าวไทย