สธ.20 ธ.ค.-สธ.ย้ำความเชื่อเรื่องการดื่มสุราช่วยแก้หนาวได้ ไม่จริงและอันตราย กำชับสาธารณสุขพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ-อีสาน ซึ่งอากาศหนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ เฝ้าระวังโรค –ออกให้ความรู้ประชาชน ดูแลสุขภาพตลอดช่วงฤดูหนาว
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศว่าในช่วงนี้ ประเทศไทยมีอากาศหนาว อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงและจะลดลงอีก ประชาชนอาจเจ็บป่วยง่ายขึ้นจากโรคที่พบบ่อยเช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม อุจจาระร่วง หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวานและความดันโลหิตสูง มีร่างกายมีภูมิต้านทานน้อย ส่งผลให้เมื่อเจ็บป่วยแล้วมีอาการรุนแรงกว่าปกติ โดยในปี 2560 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่189,870 ราย เสียชีวิต 54 ราย ผู้ป่วยโรคปอดบวม 251,792 ราย เสียชีวิต 248 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก โดยได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอากาศหนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ เฝ้าระวังโรคและออกให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตลอดช่วงฤดูหนาว
สำหรับเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือความเชื่อเรื่องการดื่มสุราจะช่วยแก้หนาวได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงและเป็นเรื่องที่อันตราย โดยในช่วงแรกหลังดื่มสุราจะรู้สึกร้อนวูบวาบ เกิดจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ผลที่ตามมาที่ประชาชนคิดไม่ถึงคือร่างกายจะสูญเสียความร้อนและน้ำออกทางผิวหนังอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง หากดื่มเข้าไปมากแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้เมาหลับไป ไม่ได้ดูแลร่างกายอบอุ่นอย่างเพียงพอ อาจเสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำได้ ซึ่งพบในผู้ที่มีประวัติดื่มสุราเป็นประจำเกือบทุกปี
นอกจากนี้ไม่ควรผิงไฟ โดยนำเตาถ่านหรือตะเกียงน้ำมันก๊าดเข้าไปจุดให้ความอบอุ่นในเต็นท์ เนื่องจากในควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อผู้ที่อยู่ในเต็นท์หายใจเอาก๊าซ 2 ชนิดนี้เข้าไปจะทำให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง โดยเฉพาะสมอง ทำให้เกิดอาการง่วง หลับโดยไม่รู้ตัวและเสียชีวิตได้.-สำนักข่าวไทย