สำนักข่าวไทย 14 ธ.ค.-ศวปถ.ย้ำสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยขึ้นอันดับ 1 ของโลก ยังเป็นตัวเลขเดิมจากปี 2015 เหตุมาจากไทยขาดพัฒนาระบบขนส่ง และอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์สูง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงกรณีเว็บไซด์เวิลด์แอตลาส www.worldatlas.com จัดอันดับไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ว่าเรื่องนี้ เป็นเพราะมีการใช้ข้อมูลตัวเลขเดิม โดยเป็นการขยับขึ้นหลังจากมีการปรับอันดับการเสียชีวิตในลิเบีย ให้เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองด้วย ขณะที่ไทยยังใช้อัตราการเสียชีวิตเดิมในปี 2015ที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน 36.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มาจากการเสียชีวิตของไทย มาจากรถจักรยานยนต์ สูงสุด และเป็นยอดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดติดอันดับโลกอยู่แล้ว โดยมีอัตราการเสียชีวิต 73 ต่อ 100 คน หรือคิดเป็นอัตราตาย 3 ใน 4
นพ.ธนะพงศ์กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุด หนีไม่พ้น เนื่องจากระบบขนส่งของไทยที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่กระจายไปครอบคลุมทุกพื้นที่ คนส่วนใหญ่นิยมใช้รถยนต์ ส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก อีกทั้งผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้รถจักรยานยนต์แต่ไม่นิยมสวมหมวกกันน็อก โดยอัตราการเสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกมีมากถึงร้อยละ 92-94 ขณะที่ยอดการสวมหมวกมีแค่ร้อยละ 40-45 ต้องให้ลดลง เหลือร้อยละ 20 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนนจึงจะลดลง
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของการขับขี่รถจักรยนต์บนท้องถนน พบ อายุของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนน ส่วนใหญ่ 15-18ปี จะได้รับการอนุโลมมีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราว ในรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 110 ซีซี แต่ในต่างจังหวัดกลับพบว่าอายุเฉลี่ยของเด็กขับขี่รถจักรยานยนต์กลับน้อยลงเหลือที่ 9 ปีเท่านั้น ถือว่าอายุน้อยมาก การตัดสินก็น้อยประสบการณ์ก็น้อย ซีซีก็สูงยิ่งอันตราย
สำหรับทางแก้ของปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากเพิ่มระบบขนส่ง ระบบรางแล้ว ควรมีการกำหนดบังคับ ในส่วนของอัตราความเร็วในในรถ จักรยานยนต์ ควรทำให้โลว์สปีดไม่เกิน 45 ซีซีในบางพื้นที่ เช่น เมืองท่องเที่ยว เพื่อจำกัดความเร็ว สร้างความปลอดภัย เพราะในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม อัตราการตายลดลง เมื่อมีการจำกัดความเร็วในรถจักรยานยนต์ และเพิ่มอัตราการสวมหมวกกันน็อก เพื่อสร้างความปลอดภัย
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังมีการหารือเรื่องอุบัติเหตุกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเมาไม่ขับ และ ศวปถ. ได้เสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ในการกลุ่มผู้ขับขี่เมาแล้วขับ มีการตรวจจับวัดระดับแอลกอฮอล์ใน ผู้ประสบอุบัติเหตุ และบาดเจ็บทุกราย ไม่สามารถปฏิเสธการตรวจจับวัดระดับแอลกอฮอล์ ส่วนผู้ที่เป็นข้าราชการ หากพบว่า มีการกระทำผิดรับโทษ 2 เท่า และถือว่ามีโทษทางวินัยราชการ .-สำนักข่าวไทย