ก.คลัง 6 ธ.ค. – บอร์ดสตาร์ทอัพเตรียมจัดงาน “Startup Thailand 2018” หวังดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ตั้งเป้าเกิดการลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2560 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการไตรมาส 3 และ 4 ปี 2560 ตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559 – 2564) พร้อมทั้งพิจารณาการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) ของประเทศไทย ว่า แผนการดำเนินงานปี 2561 เตรียมจัดงาน Startup Thailand 2018 วันที่ 17 – 20 พฤษภาคม 2561 ภายใต้แนวคิด “Invest Nation” โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจใหม่ในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลักดันให้เกิดนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานเพื่อเสนอแนะนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 4) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาภาพรวมของปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Startup ในแต่ละระยะ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของ Startup มากยิ่งขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.) ของคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 2) ที่มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของระบบนิเวศในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยมีการกำหนดขอบเขตคำนิยามของสตาร์ทอัพไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพของประเทศไทย รวมทั้งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมีหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองวิสาหกิจเริ่มต้น รวมทั้งพิจารณาให้และเพิกถอนสิทธิประโยชน์แก่สตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริม และคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพประเภทนิติบุคคลและนิติบุคคลอื่นทุกสาขาสามารถนำเสนอสินค้าและบริการภายในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจและการให้บริการที่จำกัดภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดที่ 2 นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนโครงการ Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษานั้น มีความคืบหน้าอย่างมาก ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาเข้าร่วมโครงการ Startup Club รวม 109 สถาบันใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และเริ่มดำเนินกิจกรรมแล้ว 17 สถาบันใน 15 จังหวัด รวมทั้งมีการจัดทำ Facebook Page “Startup Club Thailand” (https://www.facebook.com/startupclubth) เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นช่องทางสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง Startup Club ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นชอบโครงการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่รับผิดชอบ Startup Club ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สามารถถ่ายทอดกระบวนการและแนวความคิดด้านการประกอบการให้แก่เด็กนักเรียนได้ โดยจะเป็นกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ 6 ครั้ง ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งเห็นชอบชุดเอกสารมาตรฐาน ประกอบด้วย หนังสือและสื่อออนไลน์ในประเด็นการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ความรู้ทางการเงินและภาษี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และตารางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพ สำหรับปี 2561 เพื่อให้สามารถใช้เป็นแหล่งความรู้และฐานข้อมูลในการดำเนินการ ทำให้ Startup Club เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า และพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักเรียนอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำชุดเอกสารและตารางกิจกรรมดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้รับการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี และได้กำหนดจะส่งมอบชุดเอกสารมาตรฐานพร้อมตารางกิจกรรมข้างต้นให้กับ Startup Club ภายในเดือนธันวาคม 2560
จากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่ได้เน้นส่งเสริมด้านการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบ่มเพาะ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้เว็บไซต์ PeoplePerHour ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับ Startup City Index ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 7 ของโลก และอันดับที่ 1 ของเอเชียในการเป็นเมืองเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยพิจารณาจากความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ต้นทุน และคุณภาพชีวิต การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ใน 4 ประเด็น (การแก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทจำกัดดำเนินการได้ในประเด็นหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น (Vesting) สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (ESOP) และหุ้นบุริมสิทธิ) มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 และปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติ ฯ ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา.- สำนักข่าวไทย