ก.คลัง 29 พ.ย. – แบงก์รัฐจับมือเข็นมาตรการช่วยเหลือรายย่อยภาคใต้ พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 35,000 ล้านบาท
นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านความร่วมมือของแบงก์รัฐ ด้วยการขยายระยะเวลา และปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการเดิม และออกมาตรการใหม่เพิ่ม
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.โครงการสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านธนาคารออมสิน เงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท (ซอฟท์โลน) มียอดเงินเหลืออยู่ 6,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการร้อยละ 0.01 ต่อปี จากนั้นแบงก์คิดดอกเบี้ยจากผู้ประกอบการร้อยละ 1.5 ต่อปี ด้วยการขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่อง มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้วยการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของเงินต้นที่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รัฐบาลได้เงินช่วยเหลือผ่านทุกโครงการวงเงิน 35,000 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ได้ออกโครงการสินเชื่อสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารผ่านสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิมไม่เกิน 2,500 ล้านบาท เพิ่มเป็นวงเงินโครงการไม่เกิน 5,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3.25 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2560 วงเงินโครงการ 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2.99 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และโครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบก์) โดยให้สินเชื่อแก่ชาวมุสลิมที่ต้องการจัดหาหรือซ่อมแซมและต่อเติมที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอัตรากำไรที่ผ่อนปรน
นายวิทัย รัตนากร กรรมการและรักษาการผู้จัดการ ไอแบงก์ กล่าวว่า ได้ออกสินเชื่อฉุนเฉินเพื่อพี่น้องมุสลิม วงเงิน 50,000 บาทต่อราย กำไรไม่เกินร้อละ 0.80 ต่อเดือน ระยะเวลา 5 ปี ไม่มีต้องมีหลักประกัน วงเงินโครงการ 500 ล้านบาท ให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท สินเชื่อ SME IBank ช่วยภาคใต้ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย กำไรคงที่ 5 ปี ร้อยละ 1.5 โครงการพักชำระหนี้ชายแดนภาคใต้ บรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ด้วยการพักเงินต้น 1 ปี ชำระเฉพาะอัตรากำไร การช่วยเหลือผ่าน โครงการทั้งหมด 10,000 ล้านบาท
นายพิเชฐ ธรรมวิภาค รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้กู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินธนาคารเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ ที่เข้าร่วมโครงการรวม 12 แห่ง ภายใต้“โครงการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากเดิมที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 วงเงินโครงการรวม 25,000 ล้านบาท เตรียมหารือกับสถาบันการเงินเพื่อสรุปว่ารายใดต้องการวงเงินสินเชื่อดังกล่าวเท่าไร
“สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี ประเภทวงเงินหมุนเวียนแบบมีกำหนดระยะเวลา และสินเชื่อระยะยาว (L/T) เพื่อใช้ในการลงทุนขยายกิจการ เช่น ขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักร เป็นต้น สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขของผู้ที่สามารถใช้บริการสินเชื่อตามโครงการนี้ได้นั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ” นายพิเชฐ กล่าว
รวมทั้งโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านประกันภัย (ยะลาปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) โดยขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 พร้อมทั้งขยายอัตรา การชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้ายเป็นในอัตราระหว่างร้อยละ 0.3 – 3 (จากเดิมร้อยละ 0.3 – 2) รวมถึงชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้ ที่ผ่านมาได้รับชดเชยสินไหม 1,700 ราย เมื่อได้ชดเชยส่วนต่างการทำประกันภัยจึงเร่ิมให้ความสนใจมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย