กรุงเทพฯ 18 พ.ย. –กฟผ. ร่วมประชุมใหญ่ระดับโลกด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
หรือ COP 23 ยืนยันแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่กระทบต่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้าน พพ.เดินหน้าแผนเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการพลังงานในระบบทำน้ำเย็นทั้งระบบ
นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่
23 หรือ COP 23 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ระดับโลกเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน
ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ได้แก่ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างวันที่ 13–17 พฤศจิกายน 2560 ณ เมืองบอนน์
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นายกฎชยุตม์ กล่าวว่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว
และเข้าร่วมกับ UNFCCC หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตั้งแต่ปี 2537 กฟผ. ในฐานะเป็นองค์การชั้นนำในกิจการไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ
พร้อมดำเนินตามนโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามมาตรการต่าง
ๆ เพื่อควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาด และการติดฉลากอุปกรณ์เบอร์
5 รวมถึงการค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซ เรือนกระจก โดยในปี 2558 กฟผ.
สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 3.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
“สำหรับแผนการลดก๊าซเรือนจกของประเทศไทยตาม NDC (Nationally Determined
Contribution) ได้ครอบคลุมเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
รวมถึงโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015 แล้ว
ฉะนั้นมั่นใจได้ว่าแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่ขัดต่อนโยบาย หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
ซึ่งแผน PDP 2015
เป็นการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าภายใต้หลักของความมั่นคง เชื่อถือได้
และมีราคาที่เหมาะสม” รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวเพิ่มเติม
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.
อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการพลังงานในระบบทำน้ำเย็นทั้งระบบ เพื่อประเมินความคุ้มทุนและความเหมาะสมในการเลือกใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมและผลักดันนำไปปรับใช้กับอาคารควบคุม
โรงงานควบคุมทั่วประเทศคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2561มีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานในโครงการไม่น้อยกว่า2 พันตันน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อปี
(2ktoe/ปี)หรือคิดเป็นมูลค่าพลังงานไฟฟ้าประมาณ
80 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมาพพ.ได้ส่งเสริมให้โรงงานและอาคารธุรกิจปรับปรุงระบบปรับอากาศขนาดใหญ่และระบบทำความเย็นในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ
(DSM Chiller) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานของสถานประกอบการและลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ
รวมทั้งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของแผน อนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 -2579 ที่มีเป้าหมาย
จะลดความเข้มการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2579 –สำนักข่าวไทย