ทำเนียบฯ 16 ต.ค. – “ประเสริฐ” เตรียมออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมผลักดันความร่วมมือการเงินระหว่างไทย-เยอรมนี เร่งพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม น.ส.ซาบิดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมดังกล่าว
นายประเสริฐ กล่าวมอบนโยบายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสภาพอากาศกันแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญกับผลกระทบต่อภาวะอุทกภัย วาตภัย และดินโคนถล่มที่ปรากฏขึ้น การเตรียมการรองรับ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ถึงอยากให้ช่วยกันหามาตรการและแนวทางให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาการลักลอบฝังกลบกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมามีโรงงานหรือว่าธุรกิจบางอย่างที่มีปัญหาตรงนี้อยู่ ทำให้เกิดมลพิษ จนทำให้ประชาชนได้รับความกระทบความเสียหาย
รวมทั้งการแก้ไขปัญหา อุทกภัย น้ำเน่าเสีย ขยะมูลฝอย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังการเกิดอุทกภัย โดยยกตัวอย่างจากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย หลังเกิดอุทกภัยพบว่ามีของเสีย ไม่ว่าจะเป็นน้ำเน่าเสีย ขยะจำนวนมาก และการอนุรักษ์ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้พื้นฐานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้ 1.หลักการสัญญารับเงินอุดหนุน ภายใต้โครงการ Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC EMC) จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี 234 ล้านบาท โดยเป็นเงินอุดหนุนเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม 150 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ให้กับภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และการปรับตัวและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2570
2.โครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ด้วยภาคประชาชน เป็นต้นแบบขยายผลและสร้างการรับรู้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ มุ่งเป้าการมีส่วนรวมเครือข่ายภาคประชาชนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
3.มาตรการควบคุมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตรายและโรงงาน อุตสาหกรรมหรือสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาสังคม จากข่าวการรั่วไหลของสารแคดเมียม เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567
4.มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ประกอบด้วย มาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง การจัดการหมอกควันข้ามแดน รวมถึงกลไกในการบริหารจัดการในการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด
นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป ลาว 2.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ้น 2 อ.สอง จ.แพร่ 3.โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) 4.โครงการทำเหมืองแร่หิน อุตสาหกรรมชนิดหินปูนและชนิดหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ 5.โครงการทางหลวงหมายเลข 118 ตอน บ.แม่เจดีย์-อ.แม่สรวย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานระหว่างประเทศ และบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย.-314-สนักข่าวไทย